กรุงเทพฯ 18 ก.พ. – สภาวิศวกรวิเคราะห์เหตุนั่งร้านโครงการหรูย่านลุมพินีถล่ม พบใช้เทคโนโลยีระบบนั่งร้านแบบมาตรฐานสากล โอกาสพังถล่มน้อยมาก ยังไม่ทราบสาเหตุนั่งร้านพังได้อย่างไร เตรียมถอดบทเรียนป้องกัน
รองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศกร พร้อมคณะ ร่วมกันแถลงวิเคราะห์ข้อมูลปัจจัยเสี่ยงเหตุโครงสร้างค้ำยันรองรับแบบหล่อคอนกรีตพังถล่มภายในหน่วยงานก่อสร้างโครงการหรูย่านลุมพินี ที่เกิดเหตุทรุดตัวลงจนมีผู้เสียชีวิต 3 ราย
นายเอนก ศิริพานิชกร ประธานคณะทำงานประสานงานด้านภัยพิบัติจากอาคารถล่ม สภาวิศวกร ระบุว่า จากการลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายร่วมกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และสภาวิศวกร พบจุดเกิดเหตุเป็นบริเวณชั้น 1 อยู่ระหว่างเทคอนกรีตลงไปที่ชั้น b1 โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีการเทคอนกรีตเสร็จสิ้นไปแล้วกว่า 500,000 ตารางเมตร เหลืออีกเพียง 50,000 ตารางเมตร ก็จะสิ้นสุดสัญญาก่อสร้างชั้นต้น โดยจุดเกิดเหตุมีนั่งร้านแยกส่วนกันชัดเจน ทำให้ไม่กระทบโครงสร้างอาคารหลัก
นอกจากนี้เบื้องต้นพบว่าบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างมีการออกแบบและติดตั้งนั่งร้านตามมาตรฐาน มีการใช้เทคโนโลยีระบบนั่งร้านค้ำยันลิ่มล็อก (Ring-Lock Scaffolding) ที่ช่วยยึดข้อต่อส่วนต่างๆ ของนั่งร้านได้อย่างมั่นคงปลอดภัย และถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ในวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่ามีวิศวกรคุมงานที่ถือใบอนุญาตฯ ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.ปิยะบุตร วานิชพงษ์พันธุ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวว่า จากกรณีโครงสร้างค้ำยัน ซึ่งเป็นโครงสร้างชั่วคราวสำหรับรองรับแบบหล่อคอนกรีตภายในโครงการก่อสร้าง ถนนพระราม 4 พังถล่ม สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของวิศวกรผู้ถือใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม ได้ดำเนินงานจัดอบรมวิชาการเพื่อถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมมือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จัดตั้งคณะทำงานร่วมวิเคราะห์สาเหตุความเสียหายโดยละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางในการป้องกันเหตุล่วงหน้า ลดความเสี่ยงของการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต นอกจากนี้ยังมีแผนดำเนินการจัดอบรมให้คำแนะนำเพื่อเพิ่มความมั่นคงในการออกแบบและติดตั้งนั่งร้านภายในโครงการก่อสร้างเร็วๆ นี้
ด้านนายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผอ.สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับมาตรฐานการติดตั้งนั่งร้านและค้ำยันที่ใช้รับน้ำหนักส่วนต่างๆ ของอาคาร สำหรับการก่อสร้างอาคารสูงตั้งแต่ 3 ชั้นขึ้นไป หรือที่มีความสูงของนั่งร้านและค้ำยันตั้งแต่ 4 เมตรขึ้นไป ผู้ดำเนินการต้องยื่นแผนผังบริเวณแบบแปลน รายการประกอบแบบแปลน และรายการคำนวณของนั่งร้านและค้ำยัน ซึ่งออกแบบและคำนวณโดยผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมตามกฎหมาย เพื่อเป็นหลักฐานก่อน จึงจะก่อสร้างนั่งร้านและค้ำยันดังกล่าวได้.-สำนักข่าวไทย