กรุงเทพฯ 7 ม.ค.-กองทัพเรือส่งเรือหลวงอ่างทอง-เรือผลักดันน้ำลงใต้ พร้อมส่งกำลังพลให้การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ตั้งฐานช่วยเหลือทางน้ำที่ จ.นครศรีธรรมราชและเป็นฐานปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้
พล.ร.ท.อดิเรก ชมภูนุช เจ้ากรมกิจการพลเรือนทหารเรือ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือนทหารเรือ ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ เป็นประธานปล่อยขบวนรถบรรทุกลำเลียงเรือผลักดันน้ำ จำนวน 30 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่กำลังพลจากอู่ทหารเรือพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ เดินทางไปยังพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีหน่วยต่าง ๆ ในกองทัพเรือให้การสนับสนุนในการลำเลียง ได้แก่ กองเรือลำน้ำกองเรือยุทธการ นาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ฐานทัพเรือสัตหีบ ฐานทัพเรือกรุงเทพ กรมสารวัตรทหารเรือ กรมอู่ทหารเรือ และกรมการขนส่งทหารเรือ เพื่อเข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่คลองปากพนัง และคลองชะอวด อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช
ขณะเดียวกันศูนย์บรรเทาสาธารณภัยจัดตั้งหมู่เรือบรรเทาสาธารณภัย โดยเรือหลวงอ่างทองเป็นเรือบัญชาการ มี พล.ร.ต.ชนินทร์ ผดุงเกียรติ ผู้บัญชาการกองเรือยกพลขึ้นบกและยุทธบริการ เป็นผู้บังคับหมู่เรือสาธารณภัยกองทัพเรือ กำลังประกอบด้วย เรือหลวงอ่างทอง เฮลิคอปเตอร์แบบ SUPER LYNX 1 ลำ ชุดปฏิบัติการพิเศษ 28 นาย กำลังสนับสนุนบรรเทาสาธารณภัย จากหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง 30 นาย ชุดแพทย์เคลื่อนที่ และชุดปฏิบัติการจิตวิทยา ทั้งนี้เป็นไปตามนโยบาย พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ ผู้บัญชาการทหารเรือ ที่สั่งการให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างเร่งด่วน ทันท่วงที และทั่วถึง
โดยเรือหลวงอ่างทองออกเดินทางในเวลา 02.00 น.ของวันนี้ (7 ม.ค.) จากท่าเรือแหลมเทียนฐานทัพเรือสัตหีบ การท่าเรือฐานทัพเรือสัตหีบ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ไปยังอู่ทหารเรือป้อมพระจุลจอมเกล้า กรมอู่ทหารเรือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เพื่อขนย้ายเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ ไปยัง จ.นครศรีธรรมราชและเป็นฐานปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ และขณะนี้เรือหลวงอ่างทองกำลังลำเลียงเรือผลักดันน้ำ และลำเลียงสิ่งของที่จะช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคใต้ และเรือหลวงอ่างทองจะออกเรือในเวลา 15.00 น. เดินทางไป จ.นครศรีธรรมราช โดยมี พลร.ท.สุธีพงษ์ แก้วทับ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะรองเสนาธิการศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือเป็นประธานในการส่งเรือหลวงอ่างทอง ลำเลียงเรือผลักดันน้ำ 20 ลำ เดินทางไปยังพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อนำเรือผลักดันน้ำไปช่วยผลักดันน้ำลงสู่ทะเล และเรือหลวงอ่างทองจะเป็นฐานปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ที่อยู่ประจำเรือในการลำเลียงส่งสิ่งของและอาหารส่งให้ถึงผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง พร้อมกับเรือระบายพลขนาดกลาง และเรือระบายพลขนาดเล็กประจำเรือที่มี จำนวน 4 ลำ ก็ยังสามารถเข้าสู่พื้นที่ทางน้ำได้ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสิ่งของ อาหาร เป็นโรงพยาบาลสนาม และครัวสนาม จะให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ และให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที ทั้งนี้จะปฏิบัติการในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย
สำหรับแนวทางในการใช้เรือผลักดันน้ำจะใช้เรือผลักดันน้ำจำนวน 20 ลำในพื้นที่คลองปากพนัง อ.ปากพนัง และเรือผลักดันน้ำอีกจำนวน 30 ลำในพื้นที่ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ขีดความสามารถของเครื่องผลักดันน้ำที่สร้างโดยกรมอู่ทหารเรือ สามารถผลักดันน้ำและสูบน้ำได้ดังนี้ 1.สามารถผลักดันน้ำต่อเครื่องได้ 24.2 ลูกบาศก์เมตร/นาที จะสามารถดึงน้ำรอบ ๆ ตัวไปได้อีก 1:3 หรือประมาณ 72.7 ลูกบาศก์เมตร/นาที หรือ 104,660 ลูกบาศก์เมตร/วัน 2.สามารถนำมาสูบน้ำได้ 24.2 ลูกบาศก์เมตร/นาที
ทั้งนี้เรือผลักดันน้ำนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการระบายน้ำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการระบายน้ำออกสู่ทะเลได้ครั้งละปริมาณมาก อีกทั้งยังชะล้างไล่ดินเลนที่ตกตะกอนอยู่ก้นแอ่งให้หมดไป ทำให้น้ำไหลได้สะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่เป็นแอ่ง เป็นบึงและคอขวด เนื่องจากเป็นที่ลุ่มระบายน้ำออกได้ลำบากและไหลได้ไม่เร็ว เป็นไปตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงพระราชทานเพื่อเป็นแนวทางในการบรรเทาปัญหาที่เกิดจากอุทกภัย
สำหรับหลักการในการปฏิบัติการของเรือหลวงอ่างทอง ซึ่งเป็นเรือยกพลขึ้นบกขนาดใหญ่ จะเป็นฐานปฏิบัติการในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เป็นการใช้กำลังจากทะเล ขึ้นสู่ฝั่ง ที่เรียกว่า From The Sea แนวทางการปฏิบัติคือให้เรือหลวงอ่างทองเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมสิ่งของ อาหาร เป็นโรงพยาบาลสนาม และครัวสนาม โดยใช้เฮลิคอปเตอร์ที่อยู่ประจำเรือในการลำเลียงส่งสิ่งของและอาหารส่งให้ถึงผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึง พร้อมกับเรือระบายพลขนาดกลาง และเรือระบายพลขนาดเล็กประจำเรือที่มี จำนวน 4 ลำ ยังสามารถเข้าสู่พื้นที่ทางน้ำได้ รวมทั้งทัพเรือภารที่ 1 และทัพเรือภาคที่ 2 ให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ และเรือในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ได้อย่างทั่วถึงและทันท่วงที ทั้งนี้จะปฏิบัติการในพื้นที่จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย
ทั้งนี้หากต้องการความช่วยเหลือ หรือประสงค์จะบริจาคสิ่งของในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ สามารถติดต่อสายด่วน 1696 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง.-สำนักข่าวไทย