สธ. 5 ก.พ.- อธิบดีกรมวิทย์ฯ เตือนผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือมีประวัติภูมิแพ้ หอบหืด เลี่ยงรับประทานแมลงทอด อาจได้รับสารฮีสตามีนปริมาณมาก ส่งผลให้อาการแพ้กำเริบ เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต
ตามที่มีข่าวดารานักแสดงรับประทานเมนู “แมงป่องทอดสมุนไพร” แล้วมีอาการคันบริเวณเปลือกตา ตาบวม หลังจากนั้นเกิดอาการแน่นหน้าอก เริ่มหายใจไม่ออก และได้ไปพบแพทย์ ทั้งนี้ แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นอาการที่แพ้อย่างหนัก จนทำให้ชีพจรไม่ปกติ นั้น
นายแพทย์ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเคยมีข่าวในลักษณะเช่นนี้ แต่เป็นการรับประทานแมลงทอด ได้แก่ ดักแด้หนอนไหม หนอนไม้ไผ่ แมงดานา ตั๊กแตนแคระ แมลงกระชอน จิ้งโกร่ง และจิ้งหรีด แต่ที่นิยมเป็นอันดับ 1 คือ ดักแด้หนอนไหมทอด รองลงมาคือ ตั๊กแตนทอด ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ในแมลงทอดมีสารฮีสตามีน (Histamine) เป็นสารที่พบได้ในอาหาร และจะพบในปริมาณมากขึ้นในอาหารประเภทโปรตีนบางชนิดที่มีกรดอะมิโนฮีสติดีน (Histidine) สูงและมีการปนเปื้อนแบคทีเรีย หรืออาหารที่เริ่มมีการเน่าเสีย และอาหารที่ไม่สะอาด โดยแบคทีเรียบางชนิดเปลี่ยนฮีสติดีนไปเป็นฮีสตามีน
ดังนั้นเมื่อรับประทานแมลงทอดที่ไม่สะอาดและมีฮีสตามีนสูงจะทำให้ไปเพิ่มฮีสตามีนในร่างกายส่งผลให้เกิดอาการทั้งทางด้านผิวหนัง ระบบทางเดินอาหารและระบบทางเดินหายใจ เช่น ผิวหนังอักเสบ เป็นผื่นแดง เป็นลมพิษ ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และหอบหืด เป็นต้น ทั้งนี้ตามมาตรฐานกำหนดปริมาณฮีสตามีนในอาหารระดับสูงสุดของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดอาหาร โดยมีได้ตั้งแต่ 100-200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า สารฮีสตามีนดังกล่าวอาจทำให้เกิดอาการผิดปกติตั้งแต่เล็กน้อย จนรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล และปริมาณอาหารที่ได้รับ ดังนั้น จึงขอเตือนประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือผู้มีประวัติภูมิแพ้ หรือหอบหืด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานแมลงทอด เพราะอาจทำให้ได้รับสารฮีสตามีนปริมาณมาก ส่งผลให้อาการแพ้กำเริบและหากรับประทานมากอาจทำให้เสียชีวิตได้
“สำหรับประชาชนทั่วไปหากจะรับประทานแมลงทอด ควรสังเกตว่าแมลงทอดดังกล่าวเป็นแมลงที่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปและมีการนำมารับประทานหรือไม่ และควรเป็นแมลงที่จับมาขณะยังมีชีวิตแล้วนำมาปรุงเป็นอาหารทันที หรือควรเป็นแมลงที่จับมาแล้วมีการเก็บรักษาในตู้แช่แข็งก่อนนำมาปรุงเป็นอาหาร ส่วนปีก ขน ขาหรือหนามแข็งของแมลง ควรจะเด็ดทิ้งก่อนรับประทาน และไม่ควรบริโภคแมลงที่มีลักษณะ ตัวที่ไม่สมบูรณ์ มีกลิ่นเปรี้ยว หรือสีเปลี่ยนจากเดิม เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ นอกจากนี้ควรให้ความสำคัญ ในเรื่องของน้ำมันที่ใช้ทอดแมลงด้วย เนื่องจากหากนำน้ำมันทอดซ้ำมาทอดแมลง อาจทำให้เกิดสารประกอบโพลาร์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้เช่นกัน” .-สำนักข่าวไทย