4 หน่วย แถลงจับซี 7 ทุจริตจัดซื้อวัสดุวิทยาศาสตร์ทิพย์

กรุงเทพฯ 7 ธ.ค. – 4 หน่วยงาน แถลงจับข้าราชการซี 7 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก.สาธารณสุข พร้อมลูกสาวและลูกเขย ทุจริตจัดซื้อวัสดุทางวิทยาศาสตร์ทิพย์ มานานกว่า 10 ปี ทำผิด 721 ครั้ง ความเสียหายมากกว่า 51 ล้านบาท หลังรู้ตัวถูกตรวจสอบ สั่งลูกสาวหย่าร้างกับลูกเขย ก่อนปิดบริษัทถอนเงินสดเก็บในบ้านพัก


ตำรวจ ปปป. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บุกตรวจค้นและตรวจยึดทรัพย์สิน ประกอบด้วย เงินสด 4,600,000 บาท ปืนออโตเมติกและปืนลูกโม่ 6 กระบอก พร้อมเครื่องกระสุนปืน 40 นัด โฉนดที่ดิน 6 ฉบับ รถยนต์ 4 คัน รถจักรยานยนต์ 2 คัน นาฬิกาโรเล็กซ์ 6 เรือน และกระเป๋าราคาแพงอีก 6 ใบ ซึ่งเป็นของกลางในคดี โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นข้าราชการระดับ 7 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มีหมายจับศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 1 ในข้อกล่าวหาร่วมกันเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใดๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐ เทศบาล สุขาภิบาล หรือเจ้าของทรัพย์นั้น

นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า คดีนี้เกิดขึ้นจากการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ ที่ระบุใจความสำคัญถึงกระบวนการของผู้ต้องหา ซึ่งระบุว่า “ด้วยมีรายชื่อหนึ่งรายชื่ออยู่ที่ฝ่ายบริหาร สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการจัดซื้อวัสดุ โดยวิธีเจาะจงกับร้านที่ร่วมกระทำความผิดบ่อยครั้ง แต่ละครั้งยอดไม่เกิน 100,000 บาท ที่อยู่ของร้านนั้น อยู่ที่เดียวกับบ้านของผู้ที่กระทำความผิดรายนี้ ขอให้ช่วยไปดำเนินการตรวจสอบให้หน่อย”


เมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ก็พบว่าพฤติกรรมของผู้ถูกกล่าวหา มีการกระทำที่เป็นการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างจริง โดยนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าหน้าที่พัสดุ จัดทำรายการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุ จากนั้นก็เสนอรายการต่อนางจรรยา ซึ่งเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุ และมีความสัมพันธ์เป็นแม่ของนางรัตนาภรณ์เอง ซึ่งนางจรรยา มีอำนาจในการอนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างโดยตรง ซึ่งในกรณีนี้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยใช้วิธีเฉพาะเจาะจง กรณีงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท

เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณแล้วก็จะมีการสั่งซื้อพัสดุในนามสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยสั่งซื้อจากบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งมีนายอานนท์ เป็นเจ้าของบริษัท และยังมีสถานะเป็นสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นลูกเขยของนางจรรยา

ในเบื้องต้นการตรวจสอบรายการจัดซื้อจัดจ้าง ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 จนถึงเดือนสิงหาคม 2566 พบการจัดซื้อจัดจ้าง รวม 89 ครั้ง เป็นเงินทั้งสิ้น 8,865,640.15 บาท


พ.ต.ท.สิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้อำนวยการกองปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 2 เปิดเผยว่า ผู้ต้องหาใช้การกระทำซ้ำ ๆ ข้อพิรุธคือมีเลขหนังสือเป็นเลขเดียวกันทั้งหมด และการกระทำของนางจรรยา กับกรรมการตรวจรับไม่สอดคล้องกัน ซึ่งในการตรวจสอบเชิงลึกพบว่าเป็นการปลอมลายมือชื่อ ผอ. และกรรมการตรวจรับอีก 2 รายชื่อ ในทุกรายการที่ปลอมเอกสารจัดซื้อจัดจ้าง

พ.ต.ท.สิริพงษ์ ระบุว่า กรณีนี้มีช่องว่างทางระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ทำให้นางจรรยา พบช่องทางในการทุจริต คือ ใช้วิธีการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงงบประมาณไม่เกิน 100,000 บาท และเลือกซื้อรายการวัสดุอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์แบบชิ้นเล็ก ๆ ประเภทสิ้นเปลือง เช่น น้ำยาเคมี ชุดตรวจสารคัดหลั่ง ซึ่งเหล่านี้เป็นวัสดุชิ้นเล็กสิ้นเปลืองและมีราคาสูง

ผู้ต้องหาสามารถกระทำการได้แต่เพียงผู้เดียวมาตลอดหลายปี เพราะในอำนาจหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเรื่องนี้แต่เพียงผู้เดียว ส่วนการขยายผลผู้เกี่ยวข้อง คือ บริษัทจำหน่ายอุปกรณ์วิทยาศาสตร์การแพทย์ คือ พบพฤติกรรมการซื้อซ้ำๆ กับบริษัทเดิม 2 บริษัท ในบริษัทแรก มีสามีของนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของ เปิดดำเนินการปี 2554 ในปีงบประมาณ 2566 พบการซื้อ 44 ครั้ง รวม 153 รายการ เป็นเงินมากกว่า 4,300,000 บาท อีกบริษัทเปิดดำเนินกิจการในปี 2556 พบการสั่งซื้อ 45 ครั้ง เป็นเงินมากกว่า 4,400,000 บาท ซึ่งบริษัทนี้มีนางรัตนาภรณ์ เป็นเจ้าของบริษัทเอง

นายภูมิวิศาล เกษมศุข เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. เปิดเผยว่า นางจรรยา รับราชการที่สถาบันชีววิทยาวิทยาศาสตร์มานานกว่า 30 ปีแล้ว จึงมีการตรวจสอบย้อนหลัง 10 ปี ในการจัดซื้อจัดจ้าง โดยย้อนหลังไปปี 2556 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน พบมีการจัดซื้อจัดจ้าง 721 ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้นมากกว่า 51,300,000 บาท

ขณะที่ นพ.ยงยศ ธรรมวุฒิ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ บอกว่า เสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังได้รับการร้องเรียนผ่านบัตรสนเท่ห์ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้รีบประสานงานกับทาง ป.ป.ท. ให้ตรวจสอบในทันที เมื่อผลการตรวจสอบออกมาแล้ว ในเบื้องต้นก็ยอมรับว่าได้สร้างความเสียหายต่อรัฐจำนวนมาก ยืนยันว่า หลังจากนี้จะยังมีการขยายผลว่ามีใครรู้เห็น หรือได้ผลประโยชน์กับกลุ่มผู้ต้องหาด้วยหรือไม่ หากพบก็จะไม่มีการละเว้นเด็ดขาด. -สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

มุกใหม่มิจฉาชีพ

มุกใหม่มิจฉาชีพ! ป่วนโทรแจ้ง ตร. เกิดเหตุร้ายที่บ้านเหยื่อ

อินฟลูฯ สาว สายทำอาหาร ถูกมิจฉาชีพอ้างเป็นตำรวจโทรหา แต่เธอไม่เชื่อ โดนท้าอีก 10 นาทีเจอกัน ปรากฏว่า มีตำรวจจาก 2 โรงพักบุกมาที่บ้านจริง

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา

“วราวุธ” ระบุการแข่งขัน อบจ.-สุพรรณบุรี ไม่มีปัญหา บอกสนามใหญ่ ไม่เข้าไปก้าวก่ายสนามท้องถิ่น ซ้ายก็เพื่อน ขวาก็พวก

ครม.เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 ผู้สูงอายุ 60 ปี

“จุลพันธ์” เผย ครม.เห็นชอบโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการทันก่อน 29 ม.ค.68 รวม 3 มาตรการ สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ 1.4-1.5 แสนล้านบาท

ข่าวแนะนำ

ข่าวแห่งปี 2567 : รวมฉ้อโกง “ดารา-คนดัง” ไม่รอด

ตลอดปี 2567 ยังมีผู้คนตกเป็นเหยื่อของกลโกง มิจฉาชีพ ที่มาในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ บางคนถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว และที่น่าตกใจเริ่มมีคนดังเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีมากขึ้น

หมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาฉลองปีใหม่

บรรยากาศการเดินทางหมอชิต 2 คึกคัก ประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวในช่วงหยุดยาวปีใหม่ ด้าน รฟท. คาดผู้โดยสารเดินทางขาออกวันนี้ 1 แสนคน

รถเริ่มแน่น! สายเหนือ-อีสาน การจราจรชะลอตัว

ประชาชนทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา หยุดยาวปีใหม่ ถ.พหลโยธิน มุ่งหน้าสายอีสาน รถแน่น ส่วนถนนสายเอเชีย ขึ้นเหนือ รถเคลื่อนตัวได้ช้า