ก.เกษตรฯ 9 ม.ค. – ศูนย์ติดตามและเเก้ไขปัญหาภัยพิบัติการเกษตรสั่งการให้ทุกหน่วยงานประเมินผลกระทบพืชเกษตรเเละเตรียมมาตรการเยียวยา พร้อมสั่งการให้เร่งระดมเครื่องสูบน้ำลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าหลังการประชุมศูนย์ติดตามและเเก้ไขปัญหาภัยพิบัติการเกษตร กระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งประเมินผลกระทบด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ เร่งประสานความร่วมมือระบายน้ำออกจากพื้นที่ ช่วยเหลือประชาชน อำนวยความสะดวกการใช้ชีวิตประจำวันและดูแลปศุสัตว์อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ให้กรมชลประทานประเมินสถานการณ์น้ำ เบื้องต้นสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ 105 เครื่อง เครื่องดันน้ำ 57 เครื่อง รถขุด 10 เครื่อง ดำเนินการสูบน้ำด้วยสถานีสูบน้ำไฟฟ้า 8 สถานี ขุดลอกกำจัดผักตบชวาและเปิดทางน้ำเร่งระบายน้ำ โดยเฉพาะที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและพัทลุงที่ปริมาณน้ำสูงระดับตลิ่ง โดยมวลน้ำสูงสุดจะเริ่มเคลื่อนสู่ตัวเมืองวันที่ 11 มกราคมนี้ ซึ่งได้กำชับให้กรมชลประทานวางแผนเร่งผลักดันน้ำเดิมออกทะเลมากที่สุด ต้องผันน้ำออกให้ได้มากกว่าวันละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเพิ่มจำนวนเครื่องสูบน้ำอีก 30-40 เครื่อง และให้ดำเนินการเสร็จภายในวันนี้ เพื่อให้มีพื้นที่สามารถรองรับน้ำ สำหรับแผนระยะกลางและระยะยาวเร่งให้เพิ่มจำนวนคลอง เพื่อใช้ระบายน้ำ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการปี 2561
ส่วนผลกระทบพื้นที่การเกษตรขณะนี้มีเกษตรกรได้รับผลกระทบ 391,568 ราย แบ่งเป็น ข้าว 251,348 ไร่ พืชไร่ 21,673 ไร่ พืชสวน 709,673 ไร่ รวมทั้งหมด 982,694 ไร่ เฉพาะยางพาราได้รับผลกระทบ 531,000 ไร่ จากพื้นที่ปลูกยางพารากว่า 11.38 ล้านไร่ ซึ่งยังไม่สามารถประเมินผลกระทบได้ โดยยางพาราที่กรีดได้แล้วจะสามารถอยู่ในน้ำได้เป็นเดือน แต่หากเป็นยางอายุน้อยอาจทำให้เสียหายได้ ซึ่ง หลังน้ำลดจะเข้าสำรวจและมีมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยางต่อไป
นอกจากนี้ ให้เร่งช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2559/2560 กรณีได้รับผลกระทบครัวเรือนละ 3,000 บาท ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉิน.-สำนักข่าวไทย