กรุงเทพฯ 14 พ.ย. – ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดเศรษฐกิจไทยปี2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 การส่งออกจะกลับมาเป็นบวกร้อยละ 0.8 จับตาผลกระทบนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อการค้าโลก
นายเชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวถึงภาพรวมแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2560 ในงานสัมนาของสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ใกล้เคียงกับปีนี้ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 เช่นกัน โดยได้รับแรงหนุนจากการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 8.5 ในปีหน้า จากปีนี้ขยายตัวร้อยละ 11.5 และการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะโตร้อยละ 4.9 ในปีหน้า จากปีนี้ขยายตัวร้อยละ 8.6 แม้ว่าการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ และ การท่องเที่ยวจะขยายตัวชะลอลง แต่การส่งออกในปี 2560 จะกลับมาบวก ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากปีนี้ที่หดตัวร้อยละ 0.5 เป็นผลมาจากปัจจัยด้านราคาที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ราคาจะสูงขึ้น แม้ปริมาณการส่งออกจะขยายตัวได้ไม่มากนัก ขณะที่ปัจจัยด้านการเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้นตามโรดแม็ปของรัฐบาลท่ีจะส่งผลดีต่อการลงทุนภาคเอกชนที่จะขยายตัวดีขึ้นร้อยละ 2.8 ในปีหน้า จากปีนี้ที่เติบโตเพียงร้อยละ 1.3
ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.8 จากร้อยละ 1.3 ในปีนี้ รวมถึงระดับหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงอยู่ที่รัอยละ 81-82 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ( จีดีพี )ยังกดดันการบริโภค ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ยังปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าว ทำให้กำลังซื้อของเกษตกรลดลงด้วย ด้านดอกเบี้ยนโยบายของไทย เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินยังคงดอกเบี้ยไว้ที่ร้อยละ 1.50 ให้นานที่สุดเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย หากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นมาก กนง.อาจจะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปี 2561 แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในปลายปีนี้ 1 ครั้ง และ ปรับขึ้น 2 ครั้งในปี 2560 ขณะที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอยู่ที่ 36-36.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปลายปีนี้อยู่ที่ 35.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
ส่วนปัจจัยต่างประเทศ ยังต้องติดตามนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โดยเฉพาะด้านการค้า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศระหว่างสหรัฐ กับจีน จะตึงเครียดมากขึ้น แต่ไม่น่าจะเกิดข้อพิพาทรุนแรง ปัจจัยดังกล่าวทำให้การค้าโลกเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น นอกจากนี้จากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ มีนโยบายจะยกเลิกการค้าเสรี และความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิก หรือ ทีพีพี จะกระทบกับ ญี่ปุ่น เวียดนาม และจะมีผลทำให้ภาคเอกชน และ นักลงทุนที่เคยใช้ประเทศเอเชียเป็นฐานการผลิตสินค้าส่งไปยังสหรัฐชะลอการลงทุน เพื่อรอความชัดเจนเรื่องการเจรจาทีพีพี ดังนั้นรัฐบาลและเอกชนทั่วโลก ต้องปรับนโยบายการค้าการลงทุนกับสหรัฐ ให้สอดคล้องกับนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เน้นการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา
ส่วนนโยบายการลดภาษีนิติบุคคล จะทำให้สหรัฐขาดดุลงบประมาณมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด) อาจจะน้อยกว่าที่คาดไว้ เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐจะแข็งค่า ทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อของสหรัฐอาจจะลดลง นอกจากนี้ต้องติดตามว่าการทำงานระหว่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ กับธนาคารกลางสหรัฐ ว่าจะราบรื่น หรือ จะมีปัญหา ซึ่งอาจจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด – สำนักข่าวไทย