ตรัง 17 ม.ค. – สองสามีภรรยาชาว ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง เลี้ยง “ชันโรง” ในสวนยางพารามานานกว่า 30 ปี รวมทั้งหมด 16 สายพันธุ์ ทั้งชนิดหายากและชนิดทั่วไป เก็บน้ำผึ้งชันโรงขายขวดละ 170-1,500 บาท สร้างรายได้หลักแสนต่อเดือน ผลิตได้เท่าไหร่ก็ไม่พอขาย
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชันโรงและผึ้งโพรงไทย บ้านสวนษิริจันทร์ หมู่ที่ 4 ต.ทุ่งยาว อ.ปะเหลียน จ.ตรัง นายนพเก้า ใจสมุทร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ และ น.ส.อุไรวิมล วังบุญ สองสามีภรรยาที่มีใจรักในการเลี้ยงชันโรง (ปักษ์ใต้เรียกว่า “อุง”) หรือ ผึ้งจิ๋ว มาตั้งแต่เล็ก เนื่องจากมีบ้านอยู่ติดกับเชิงเขา จึงสะสมสายพันธุ์ชันโรงมาเรื่อยๆ รวมเวลากว่า 30 ปีแล้ว ทำให้ได้ชันโรงทั้งหมด จำนวน 16 สายพันธุ์ ทั้งชนิดหายาก เช่น สายพันธุ์ตัวจิ๋ว และสายพันธุ์สิรินธร รวมทั้งสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ชันโรงปากแตร ชันโรคปากหมู อิตาม่า ปลายปีกขาว ขนเงิน ถ้วยดำ รุ่งอรุณ ชันโรงหมี ชันโรงใต้ดิน และอื่นๆ จนมีรังชันโรงทั้งหมดกว่า 400 รัง เกษตรกรสองสามีภรรยาสามารถเก็บน้ำผึ้งชันโรงขายได้ทุก 3-6 เดือน ครั้งละไม่ต่ำกว่า 50 กิโลกรัม โดยแบ่งขายเป็นขวด มีตั้งแต่ขวดละ 100 ซีซี ราคา 170 บาท ขวดละ 1,000 ซีซี ราคา 1,500 บาท นอกจากนี้ ยังสามารถขายตัวอ่อนนางพญาผึ้งชันโรง รังผึ้งชันโรง และขี้ผึ้งชันโรง ได้อีกทางหนึ่งด้วย สร้างรายได้นับแสนบาทต่อเดือน โดยการเลี้ยงผึ้งจิ๋ว หรือชันโรง มีวิธีการเดียวกับการเลี้ยงผึ้งโพรง ให้ผึ้งออกไปเก็บน้ำหวานจากดอกไม้กลับมาทำรังในขอนไม้ที่เตรียมไว้ให้ โดยมีการเจาะรู เพื่อให้ชันโรงบินเข้าออกได้ ซึ่งชันโรงจะทำรังเป็นกระเปาะ สามารถใช้ไซริงค์ หรือเครื่องดูดน้ำหวานดูดขึ้นมาได้ หรือจะใช้หลอดกาแฟดูดน้ำหวานขึ้นมารับประทานสดได้
ข้อดี คือ ชันโรงสามารถเลี้ยงในสวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน และสวนอื่นๆ ควบคู่กันไปได้ ชอบอาศัยในขอนไม้ หาได้ง่ายในพื้นที่ ไม่ต้องไปซื้อหาเหมือนรังของผึ้งโพรง
หลายคนสงสัยว่า “ชันโรง” คือตัวอะไร แตกต่างจากผึ้งอย่างไร
“ชันโรง” คือ แมลงผสมเกสรตัวเล็กๆ จัดอยู่ในจำพวกผึ้ง แต่ไม่มีเหล็กในเหมือนผึ้ง
“ชันโรง” มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามแต่ละท้องถิ่น ภาคเหนือเรียก ขี้ตังนี ขี้ตัวนี หรือ ขี้ย้าแดง ภาคใต้เรียก แมลงอุง ภาคอีสานเรียก แมลงขี้สูด ภาคตะวันออกเรียก ตัวตุ้งติ้ง
น.ส.อุไรวิมล วังบุญ เกษตรกรผู้เลี้ยงชันโรงรายใหญ่ใน อ.ปะเหลียน กล่าวว่า เริ่มขายตอนแรกในปี 2557 โดยขายทางออนไลน์ ช่องทางยูทูบ เฟซบุ๊ก มีทั้งหมดกว่า 400 รัง มีทั้งชันโรงบ้านและชันโรงป่า จำนวน 16 สายพันธุ์ ที่หายาก คือ ชันโรงตัวจิ๋ว และชันโรงสิรินธร จะเก็บน้ำผึ้งชันโรงทุก 3-6 เดือน แล้วแต่ปริมาณ เก็บได้ตั้งแต่ 150-1,000 ซีซี
น.ส.อุไรวิมล บอกว่า ตอนนี้ราคาขายน้ำผึ้งชันโรง ขวดละ 100 ซีซี ราคา 170 บาท ส่วนขวดละ 1,000 ซีซี ราคา 1,500 บาท ผลผลิตเฉลี่ยเดือนละประมาณ 50 กิโลกรัม ตอนนี้ผลิตได้เท่าไหร่ก็ขายหมด ไม่พอขาย ในอนาคตอันใกล้นี้ เกษตรกรเตรียมเปิดพื้นที่ให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวชมและดื่มน้ำผึ้งชันโรงสดจากรังได้ แต่ต้องรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ตอนนี้จึงต้องขายออนไลน์ ซึ่งมีเท่าไหร่ก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มคนรักสุขภาพที่มีการจองกันล่วงหน้านานนับเดือน เนื่องจากมีคนเลี้ยงน้อย จึงเป็นโอกาสทองของเกษตรกรที่สนใจเลี้ยงชันโรง ซึ่งเคยนำไปออกบูธตามจังหวัดต่างๆ มาแล้วทั่วประเทศ
สำหรับ “ชันโรง” เป็นแมลงเศรษฐกิจที่เลี้ยงง่าย ราคาดี น้ำผึ้งชันโรงมีคุณค่าทางอาหารมากกว่าน้ำผึ้งทั่วไป 3 เท่า มีสรรพคุณในการบำรุงร่างกาย แก้ปัญหานอนไม่หลับ สามารถยับยั้งการแพร่จำนวนของเซลล์มะเร็ง มีส่วนประกอบในการทำยารักษาแผลในกระเพาะ ช่วยปรับระบบการทำงานของระบบย่อยอาหารให้ดีขึ้น ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้ากลุ่มไม่ต่ำกว่าปีละ 1.7 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากน้ำผึ้งชันโรง ร้อยละ 40 อุปกรณ์การเลี้ยงชันโรง ร้อยละ 10 กล่องลังเลี้ยงชันโรง ร้อยละ 45 และสกินแคร์ ร้อยละ 5 ของรายได้ทั้งหมด
ส่วนใครที่ถูกชันโรงต่อย จะรู้สึกเหมือนมดกัด และเนื่องจากไม่มีเหล็กใน จึงไม่มีพิษใดๆ. – สำนักข่าวไทย