กรุงเทพฯ 13 ม.ค.- รอง ผบ.ตร. เตือนภัยประชาชน ให้ทราบถึงวิธีการที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ 7 ข้อ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส. ตร.) ออกมาเตือนภัยประชาชน ให้ทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่มิจฉาชีพมักใช้หลอกเหยื่อบนโลกออนไลน์ 7 ข้อ ดังนี้
- หลอกขายของออนไลน์ แต่ไม่ส่งสินค้าจริง หรือส่งสินค้าที่ไม่ตรงตามที่ตกลง หรือไม่มีคุณภาพมาให้ มิจฉาชีพจะนำภาพสินค้าจาก อินเตอร์เน็ต หรือภาพจากผู้ใช้งานอื่นที่ขายสินค้าจริง นำมาโพสต์ขายในช่องทางตัวเอง เพื่อหลอกให้ลูกค้า หลงเชื่อว่ามีสินค้านั้นอยู่จริง โอนเงินสั่งซื้อ แต่จะไม่ส่งสินค้า หรือส่งสินค้าไม่ตรงตามที่ตกลง
- เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยมหาโหด มีผู้เสียหายจำนวนมากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อแก๊งปล่อยเงินกู้ออนไลน์ กลุ่มคนร้ายจะหลอกว่ามีบริการเงินกู้ คิดอัตราดอกเบี้ย ราคาถูก ผ่อนจ่ายระยะยาว แต่เมื่อทำสัญญาแล้ว ไม่ได้รับเงินกู้ตามจำนวนที่ตกลง อีกทั้งดอกเบี้ยยังเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวอีกด้วย
- เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) จะต่างจากกรณีข้างต้น คือ คนร้ายจะหลอกผู้เสียหายว่าก่อนได้รับเงินกู้จะต้องเสียค่าบริการ ค่ามัดจำ หรือค่าดำเนินการต่างๆให้ผู้เสียหายโอนเงินให้เรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่ได้รับเงินกู้จริงตามที่กล่าวอ้าง
- หลอกให้ลงทุน มิจฉาชีพจะหลอกให้ผู้เสียหายลงทุนต่างๆ เช่น ลงทุนธุรกิจ หรือลงทุนแชร์ลูกโซ่ ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยจะเสนอผลตอบแทนเป็นจำนวนมาก ได้เงินไว แรกๆ อาจจะได้รับผลจริง เมื่อเหยื่อหลงเชื่อ และร่วมลงทุนเป็นจำนวนมากขึ้นจะเริ่มบ่ายเบี่ยงไม่ให้ผลตอบแทนตามที่ตกลงไว้
- หลอกให้เล่นพนัน ออนไลน์ การพนันเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่มิจฉาชีพจะหว่านล้อมด้วยวิธีการต่างๆให้ผู้เสียหายเข้าร่วมลงทุน หรือเล่นการพนันออนไลน์ หากท่านถูกโกง จากการพนันออนไลน์แล้วอาจไม่สามารถแจ้งความหรือดำเนินคดีกับมิจฉาชีพได้
- โรแมนซ์สแกมหลอกให้รัก หลอกให้โอนเงิน กลุ่มมิจฉาชีพจะทำงานเป็นขบวนการ โดยจะใช้รูปภาพ และโปรไฟล์เป็นชาวต่างชาติที่ดูดีมีฐานะ ทักมาคุย สร้างความสนิทสนม จากนั้นจะหลอกผู้เสียหายด้วยวิธีการต่างๆ เช่น จะส่งของมาให้ หรือหลอกให้ลงทุน ฯลฯ ให้ผู้เสียหายหลงเชื่อและโอนเงินให้เป็น จำนวนมาก
7.ลิงก์ปลอมหลอกแฮ็กข้อมูลโทรศัพท์ มิจฉาชีพจะส่งข้อความต่างๆ เช่น ท่านได้รับความ ช่วยเหลือต่างๆ ท่านเป็นผู้โชคดีได้รับเงินรางวัล หรือ แม้กระทั่งหลอกว่าเป็นลิงก์จากหน่วยงาน หรือธนาคาร ให้ผู้เสียหายกดลิงก์เข้าไปเพื่อตรวจสอบข้อมูล แต่เมื่อกดลิงก์เข้าไปแล้ว มิจฉาชีพก็จะแฮ็กข้อมูลในโทรศัพท์หรือบัญชีธนาคาร ทำให้สูญเงินไปทันที .-สำนักข่าวไทย