กรุงเทพฯ 12 ม.ค.- กกร.คงประมาณการณ์จีดีพีไทย มองเนื้อหมูแพงช่วงครึ่งปีแรก ระบุราคาสินค้าที่แพงขึ้น ยังอยู่ในกรอบประมาณการณ์เงินเฟ้อเดิม คาดเนื้อหมูแพงช่วงครึ่งปีแรก และแผนงานแก้ปัญหาเพิ่มหมูในระบบของรัฐ-ชาวบ้านจะได้ผล จี้รัฐลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่ออีก 2 ปี
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงผลที่ประชุม กกร.วันนี้ว่า การประมาณการเศรษฐกิจปี 2565 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวสอดคล้องกับที่คาดการณ์ไว้ หากสามารถบริหารจัดการการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่จำเป็นต้องมีการ Lockdown และเร่งแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและการปรับตัวของราคาสินค้าภายในประเทศอย่างรวดเร็ว กกร. จึงคงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 3.0% ถึง 4.5% ขณะที่ประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะยังอยู่ในกรอบ 1.2% ถึง 2.0% แต่จำเป็นต้องมีมาตรการระยะสั้นเพื่อบรรเทาปัญหาสินค้าอาหารราคาแพงเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคมากเกินไป
“กรณีราคาเนื้อหมูแพงขึ้น ประชาชนหาทางเลือกโปรตีนอื่นทดแทนก็ทำให้ราคาเนื้อสัตว์และสินค้าออื่นปรับตัวเพิ่มขึ้นบ้าง โดยทางมหาวิทยาลัยยหอการค้าไทย ได้ ติดตามสถานการณ์และคาดว่าจากที่ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันเพิ่มปริมาณหมู และควบคุมโรคระบาด ก็คาดว่าจะเพิ่มหมูในระบบได้ ใน 4 เดือน หลังจากั้นราคาหมูจะลดลง จึงคาดว่า ในครึ่งปีแรกเงินเฟ้ออาจสูงถึง 1.2% ถึง 2.0%และจะลดลงในช่วงครึ่งหลังของปี”นายสนั่นกล่าว
นายสนั่นกล่าวด้วยว่า ในขณะนี้มีความเป็นห่วงราคาน้ำมันตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลดูแลเรื่องนี้ และล่าสุดได้ต่ออายุการตรึงราคาก๊าซหุงต้มและก๊าซเอ็นจีวี ส่วนเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทางสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย มีโปรแกรมร่วมมือกันดูแลปัญหาหนี้ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ควรมีกลไกหรือนโยบายสนับสนุนการสร้างรายได้ควบคู่กับมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างรอบด้าน และสร้างความเข้มแข็งทางการเงินให้กับครัวเรือนอย่างยั่งยืน ในขณะเดียวกันส่วนของการเพิ่มรายได้ ทางภาครัฐก็ต้องเร่งดำเนินการทั้งการเร่งใช้งบประมาณรายจ่าย และส่งเสริมการท่องเที่ยว เพื่อให้ทั้งระบบมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยคาดว่าปีนี้หากไม่มีโควิด-19 สานพันธุ์ใหม่เข้ามาอีก นักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะมีเข้ามาไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านคน ในขณะที่นโยบายยกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งช้อปดีมีคืน และคนละครึ่งเฟสที่ 4 คาดว่าจะทำให้เงินหมุนเวียในระบบราว 1.0-1.3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ กกร.มองว่า การแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจช่วงต้นปีมีแนวโน้มชะลอตัวบ้าง แต่ผลกระทบโดยรวมคาดว่าไม่รุนแรง ให้คาดว่าจะกระทบกับ Sentiment ทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวจะจำกัดเพียงระยะสั้นหรือราวไตรมาสแรกของปี 2565 .
กกร.ยังมีประเด็นข้อเสนอแนะภาครัฐเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตามพระราชกฤษฎีกา กำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2564 วันที่ 13 ธันวาคม 2564 ซึ่งใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 มีความไม่ชัดเจนทำให้อัตราการจัดเก็บไม่ได้ลดลง ร้อยละ 90 ตามข้อเสนอของกกร. แต่อย่างใด และอัตราการจัดเก็บยังเป็นไปตามอัตราเดิมเช่นเดียวกับที่เคยกำหนดไว้ใน พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มาตรา 94. จึงขอให้กระทรวงการคลัง ขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ออกไปอีก 2 ปี(2565-2566 ) โดยขอพิจารณาออก พรก.ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง บางประเภทเพิ่มเติม อีกหนึ่งฉบับ เพื่อลดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินลงอีกร้อยละ 90 ตามมาตรา 55 เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วน
นอกจากนี้เห็นว่าภาครัฐควร เร่งปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ ตามแผนงาน Regulatory Guillotine ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ในช่วงการฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจของประเทศจากวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 โดยสิ่งที่ควรทำเร่งด่วนได้แก่ ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลองค์กรทางธุรกิจ SMEs และ Startup,กฏหมายด้านธุรกิจท่องเที่ยว
,ด้านการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ,และปรับปรุงหลักการเกี่ยวกับการกำกับดูแลการค้าของเก่าและการนำผลิตภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ (reuse and recycle) เพราะกฏหมายปัจจุบันล้าสมัย ทำให้ไทยไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันได้.-สำนักข่าวไทย