กรมชลประทาน 15 ม.ค. – นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือติดตั้งพื้นที่เสี่ยงภัยในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่อเร่งระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ฝนระลอกใหม่ที่จะตกลงมาอีก หลังจากกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าวันที่ 16-18 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนวันที่ 19-20 มกราคม 2560 จะมีฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ปัจจุบันมีจังหวัดที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ส่วนนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง โดยในเขตอำเภอชะอวด นครศรีธรรมราชเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังตอนล่างยังคงมีน้ำท่วมในที่ลุ่มต่ำก่อนออกสู่ทะเล ปัจจุบันมีปริมาณน้ำคงเหลือในพื้นที่ประมาณ 340 ล้านลูกบาศก์เมตร จากปริมาณน้ำที่ท่วมทั้งสิ้นประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เนื่องจากกรมชลประทานเพิ่มเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเพิ่ม ทำให้ปริมาณน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ การระบายน้ำยังต้องคำนึงถึงการเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้านี้ด้วย
ทั้งนี้ มีเครื่องสูบน้ำที่ส่งเข้าไปช่วยเหลือ 93 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำอีก 68 เครื่อง และยังมีเรือผลักดันน้ำที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรืออีก 70 เครื่อง นอกจากนี้ ยังติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ ขนาด 3 ลบ.ม./วินาที เร่งระบายน้ำในพื้นที่บ้านบางไทร ต.บ้านใหม่ อ.ปากพนัง 2 เครื่อง ทำให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่รวดเร็วมากขึ้น หากฝนไม่ตกหนักลงมาเพิ่ม คาดว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1 – 2 วัน
ส่วนที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีระดับน้ำในแม่น้ำตาปี อ.พระแสง เสมอระดับตลิ่ง แนวโน้มลดลง คาดว่าระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งวันนี้ (15 ม.ค. 60) ส่วนที่ อ.เคียนซา ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 1.53 เมตร แนวโน้มทรงตัวและลดลง คาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติวันที่ 19 มกราคม 2560 และที่ อ.พุนพิน ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่ง 15 เซนติเมตร (เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนในบางช่วงเวลา) คาดว่าจะมีระดับน้ำล้นตลิ่งสูงสุดไม่เกิน 70 เซนติเมตร ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจในเขตเทศบาลเมืองท่าข้าม
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้สนับสนุนเครื่องผลักดันน้ำช่วยเร่งระบายน้ำในแม่น้ำตาปี 10 เครื่อง และได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรืออีก 26 ลำ เพื่อให้ระบายน้ำออกสู่ทะเลได้เร็วที่สุด ส่วนเครื่องจักร เครื่องมือ ที่กรมชลประทานจัดส่งไปสนับสนุนการเร่งระบายน้ำในพื้นที่ภาคใต้จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ เครื่องสูบน้ำที่ออกปฏิบัติการ 143 เครื่อง เครื่องสูบน้ำที่พร้อมใช้งานสำรองอีก 96 เครื่อง ส่วนเครื่องผลักดันน้ำที่ออกปฏิบัติการ 83 เครื่อง สำรองพร้อมใช้งานอีก 29 เครื่อง และสถานีสูบน้ำอีก 8 สถานี นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ จากส่วนกลางเพิ่ม ประกอบด้วย เครื่องสูบน้ำ 388 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 51 เครื่อง.-สำนักข่าวไทย