สธ. 27 ธ.ค.-สธ.แจงฉากทัศน์แบบจำลองโอไมครอนระบาด ออกเป็น 3 แบบ 5 ระดับ ตอนนี้อยู่ระดับ 3 ชี้โอไมครอนไม่แรงเท่าเดลตา แต่แพร่เร็ว เชื้ออยู่ทางเดินหายใจส่วนบน ต้องอาศัยความร่วมมือประชาชน เชื่อหลังปีใหม่ยอดพุ่ง ต้อง WFH ตรวจ ATK ก่อนกลับมาทำงาน ตอนนี้พบคนติด 514 คน ปอดอักเสบ 7 คน แต่ไม่ต้องใส่ท่อ เชื่อไม่นานหายดี
นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงฉากทัศน์สถานการณ์โควิด หรือแบบจำลองการระบาดของโควิด ว่า ตั้งแต่มีการเปิดประเทศ พบการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนแล้ว 514 คน มีทั้งมาจาก T&G, Sandbox และ Quarantine จากการประเมินคาดว่าโอไมครอนมีความสามารถในการระบาดมากกว่าเดลตา แต่ในส่วนความรุนแรง เดลตามีมากกว่า โดยโอไมครอน พบปริมาณเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน เป็นสาเหตุที่ทำให้แพร่ง่ายและเร็วกว่า ฉะนั้นต้องมีการวางระบบรองรับให้ดี ขณะเดียวกันก็มีการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน
นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า สำหรับอาการของโอไมครอน จากการติดตามผู้ป่วย 100 คน พบว่า ส่วนใหญ่มีอาการน้อย จนถึงไม่มีอาการ 90% โดย 48% ไม่มีอาการ และมีอาการ 41% ส่วนใหญ่จะมีอาการไอ เจ็บคอ ไข้ โดยพบว่าการรักษา หากเป็นแต่เบื้องต้นสามารถจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ หายได้ภายใน 2-3 วัน โดยขณะนี้พบผู้ป่วยโอไมครอนที่มีอาการปอดอักเสบ 7 คน และส่วนใหญ่ของผู้ป่วยเป็นชายมากกว่าหญิง ทั้งนี้ ได้มีการเปิดฉากทัศน์หรือการจำลองเหตุการณ์ออกเป็น 3 แบบ ได้แก่ แบบที่ 1 เป็นแบบที่ไม่อยากให้เกิดขึ้น ประชาชนให้ความร่วมมือน้อย เกิดการติดเชื้อจำนวนมาก 30,000 คน/วัน อัตราการตาย 170-180 คน/วัน, แบบที่ 2 เป็นการติดเชื้อแบบปานกลาง มีการติดเชื้อ 15,000-16,000 คน/วัน เสียชีวิต 80-100 คน/วัน และแบบที่ 3 เป็นแบบที่ดีที่สุด พบอัตราการติดเชื้อ 10,000 คน/วัน และอัตราการเสียชีวิต 60-70 คน/วัน ซึ่งแบบจำลองนี้ประเมินจากอัตราการแพร่ และอัตราการรับวัคซีน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง 7 คนนั้น ทุกคนอาการปอดอักเสบ แต่ไม่รุนแรงมาก ไม่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ มี 1 คนที่มีโรคประจำตัว เชื่อว่าไม่นานอาการก็จะดีขึ้น โดยการรักษายังคงให้ยาฟาวิพิราเวียร์ได้ดีอยู่ หากให้เร็วไม่นาน 3 วัน อาการก็กลับมาปกติ ส่วนสถานการณ์เตียงมีเพียงพอ ทั้งเหลืองและแดง และในวันพรุ่งนี้ (28 ธ.ค.) จะมีการเสนอที่ประชุม ครม.พิจารณาปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยโควิดให้กับฮอสพิเทลที่เข้าร่วมดูแลผู้ป่วยกับ สบส. และ สปสช.
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ระดับเตือนภัยในสถานการณ์โควิด แบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ อ้างอิงตามปัจจัยเสี่ยง สถานที่เสี่ยง การเดินทางเข้าพื้นที่ และการเดินทางออกมาจากต่างประเทศ แบ่งเป็น 1.เสี่ยงต่ำมาก (สีเขียว) 2.เสี่ยงต่ำ (เหลือง) 3.เสี่ยงปานกลาง (สีส้ม) 4.เสี่ยงสูง (สีแดง) และ 5.วิกฤต (สีแดงเข้ม) ตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 3 สถานการณ์การติดเชื้อจะเพิ่มขึ้นหรือน้อยลง ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน การใช้มาตรการ covid free setting และการตรวจ ATK ก่อนและหลังทำกิจกรรม เพื่อความปลอดภัย โดยคาดว่าหลังเทศกาลปีใหม่ ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อจะกลับมาเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น ก่อนเข้าทำงานก็ต้องมีการคัดกรองตรวจ ATK และหากเป็นไปได้ควรกลับมาทำ work from home พร้อมกล่าวว่า หากมีการติดเชื้อเพิ่มจำนวนมากจนสถานการณ์เลวร้ายอยู่ในระดับ 5 วิกฤต ก็อาจต้องมีเคอร์ฟิว ปิดกิจกรรมกิจการบางชนิด.-สำนักข่าวไทย