กรุงเทพฯ 17 ม.ค.-ส.อ.ท. จับมือ นิด้า MOU สำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประเดิมโพลแรก แถลง “ผลการสำรวจ CEO Survey ทิศทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2560
รศ.ดร.กำพล ปัญญาโกเมศ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒน บริหารศาสตร์ เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจผู้บริหารระดับสูงต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูง ร้อยละ 34.69 ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 จะขยายตัว ร้อยละ 48.98 ระบุว่า ทรงตัว และร้อยละ 16.33 ระบุว่า หดตัว โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2560 โดย ร้อยละ 70.59 ระบุว่า จะขยายตัวร้อยละ 1– 5 ขณะที่ทิศทางแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 พบว่าร้อยละ 30.61 ระบุว่าทิศทางแนวโน้มของภาคอุตสาหกรรม ในปี 2560 จะขยายตัว ร้อยละ 46.94 คาดว่าจะทรงตัว และร้อยละ 22.45 ระบุว่า จะหดตัว
สำหรับปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 57.14 ระบุว่า ปัจจัยที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ปี 2560 คือ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม รองลงมา ร้อยละ 51.02 ระบุว่า เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐฯ ร้อยละ 38.78 ระบุว่า เป็นภาคการท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงมีความกังวลในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2560 พบว่าส่วนใหญ่ ร้อยละ 42.86 ระบุว่า เป็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รองลงมา ร้อยละ 40.82 ระบุว่า เป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลกจากความไม่แน่นอนของนโยบายของสหรัฐฯ ภายหลังการเลือกตั้ง และกระบวนการในการออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมถึงกำลังซื้อภายในประเทศที่ยังฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 34.69 ระบุว่า เป็นความเข้มงวดของธนาคารในการให้สินเชื่อ
ส่วนการวางแผนของผู้บริหารระดับสูงในการดำเนินกิจการในช่วงปี 2560 พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.84 ระบุว่ามีการวางแผน และมีแนวทางในการรับมือ ขณะที่ ร้อยละ 8.16 ระบุว่า ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผนมากนักจากช่วงครึ่งหลังของปี 2559 โดยในจำนวนผู้ที่ระบุว่ามีการวางแผนและมีแนวทางในการรับมือนั้น ส่วนใหญ่ ร้อยละ 44.44 ระบุว่า มีการวางแผนโดยปรับปรุงเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิต รองลงมา ร้อยละ 37.78 ระบุว่า เป็นการพัฒนาศักยภาพของแรงงาน ร้อยละ 28.89 ระบุว่า เป็นการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะของผู้บริหารระดับสูงเพื่อให้การลงทุนภาคเอกชนของไทยสามารถขยายตัวได้ดีและเป็นแรงขับเคลื่อนให้กับเศรษฐกิจไทยต่อไป สามารถสรุปได้ ดังนี้ คือ 1.รัฐบาลควรพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิต และก้าวเข้าสู่ Industries 4.0 2.หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ควรสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม 3.รัฐบาลควรเร่งพัฒนาวางระบบโครงสร้างพื้นฐานและการคมนาคม
โดยภาครัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รองลงมา ร้อยละ 48.98 ระบุว่า ภาครัฐควรเร่งรัดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ร้อยละ 40.82 ระบุว่า ภาครัฐควรสนับสนุนการขยายตลาดเข้าสู่หัวเมืองรองในกลุ่มประเทศ CLMV เพื่อขยายฐานลูกค้าและกระจายสินค้าให้มากขึ้น
ส่วนความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลก ภายหลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 45 ของสหรัฐฯ พบว่า ผู้บริหาร ร้อยละ 22.45 ระบุว่า ทิศทางภาวะเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว ร้อยละ 40.82 ระบุว่า ทรงตัว ร้อยละ 26.53 ระบุว่า หดตัว ขณะที่ร้อยละ 10.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ โดยความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงต่อนโยบายของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย พบว่า ผู้บริหารระดับสูงส่วนใหญ่ ร้อยละ 63.04 ระบุว่า เป็นนโยบายการกีดกันทางการค้าสำหรับสินค้านำเข้าจากจีน และเม็กซิโก ที่จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและปริมาณการค้าโลก รองลงมา ร้อยละ 50.00 ระบุว่า เป็นการปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าจากจีนเป็นร้อยละ 45 และดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ กลับไปผลิตในสหรัฐฯ
ส่วนผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย จากนโยบายเรื่องการค้าที่ว่า นายโดนัลด์ ทรัมป์ จะกีดกันการค้าจากจีน พบว่า ร้อยละ 4.08 ระบุว่า น่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยมากที่สุด ร้อยละ 22.45 ระบุว่า ส่งผลมาก ร้อยละ 48.98 ระบุว่า ส่งผลปานกลาง ร้อยละ 18.37 ระบุว่า ส่งผลน้อย ร้อยละ 4.08 ระบุว่า ส่งผลน้อยที่สุด และร้อยละ 2.04 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จับมือ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรม” ระหว่าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กับ ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยความร่วมมือในการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผลการสำรวจความคิดเห็นดังกล่าวได้สะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นมุมมองที่ได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทย รวมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้เป็นแนวทางเบื้องต้นในการดำเนินงาน วางแผน หรือปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจได้ โดยการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการสำรวจความคิดเห็นด้านเศรษฐกิจอุตสาหกรรมครั้งนี้ ทั้ง 2 องค์กร ยังคงมีเจตนารมย์ร่วมกันที่จะดำเนินการสำรวจความคิดเห็น เพื่อสะท้อนมุมมองของผู้ประกอบการที่มีต่อภาพรวมของเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยอย่างต่อเนื่องหลังจากนี้ไป.-สำนักข่าวไทย