ทำเนียบรัฐบาล 20 ธ.ค.-ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค.เผยพบหญิงไทยรายแรกติดโอไมครอน เตรียมเสนอ ผอ.ศบค.ยกระดับมาตรการเข้าประเทศ เปลี่ยน Test and Go เป็นต้องตรวจ RT-PCR เพิ่มระยะเวลากักตัว
พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะผู้ช่วยรองโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (ศบค.) แถลงว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทย วันนี้ (20 ธ.ค.) พบติดเชื้อในประเทศ 2,525 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 2,411 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 49 ราย เรือนจำ/ที่ต้องขัง 23 ราย ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 42 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 4,190 ราย หายป่วยสะสม 2,132,548 ราย (ตั้งแต่ปี 2563) อยู่ระหว่างรักษาตัว 40,097 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 31 ราย
“สำหรับผู้ที่เดินทางเข้าราชอาณาจักรผ่านท่าอากาศยานตั้งแต่วันที่ 1-19 ธันวาคม 2564 มียอดสะสม 160,445 ราย โดยมีผู้ที่เดินทางเข้ามาใหม่วันนี้ 13,664 ราย ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ทั้งสิ้น 42 ราย” ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า มีรายงานเพิ่มเติมพบคลัสเตอร์จาก สสจ.นนทบุรี ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหลายจังหวัดคือปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา โคราชและกรุงเทพมหานครเป็นกลุ่มคลัสเตอร์ที่ไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาในประเทศตะวันออกกลาง จำนวน 33 ราย ซึ่งกลับมาประเทศไทยวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา เข้าพักในโรงแรมแห่งหนึ่งเพื่อตรวจ RT-PCR พบติดเชื้อ 14 ราย ถอดรหัสพันธุกรรมเป็นโอไมครอน 6 ราย และเดลต้า 8 ราย ติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงตรวจเพิ่มเติมอีก 2 รายวันที่ 19 ธันวาคมและวันที่ 20 ธันวาคม พบติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย โดยคลัสเตอร์นี้มี 18 ราย รอผลการตรวจสายพันธุ์อีก 4 ราย
“คู่สามีภรรยาที่มาจากประเทศไนจีเรียเข้ามาวันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันก่อนประกาศมาตรการ 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยงจากทวีปแอฟริกา โดยสามีภรรยานี้เข้าสู่ระบบแซนด์บอกซ์ สามีเป็นชาวโคลัมเบียมีอาการและตรวจ RT-PCR วันที่ 7 ธันวาคมแล้ว พบเชื้อ เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล วันที่ 10 ธันวาคมตรวจภรรยาและพบเชื้อ โดยวันเดียวกันสามีพบเชื้อโอไมครอน และวันที่ 12 ธันวาคมพบเชื้อโอไมครอนในภรรยาเช่นกัน มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 1 ราย ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ขณะนี้กำลังกักตัวสังเกตอาการ ผู้สัมผัสเสียงต่ำอีก 83 ราย ติดตามอาการครบ 14 วันแล้วไม่พบอาการป่วย ถือได้ว่าภรรยาที่เป็นคนไทยเป็นรายแรกที่ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทย” ผู้ช่วยรองโฆษกศบค. กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า ส่วนคลัสเตอร์นราธิวาส 3 รายผลตรวจเป็นบวก เป็นผู้ที่กลับจากทำกิจกรรมทางศาสนาทางประเทศแถบตะวันออกกลาง เข้าประเทศมาทางสนามบินภูเก็ตและเป็นนักท่องเที่ยวระบบแซนด์บ็อกซ์ มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 3 ราย พบเป็นสายพันธุ์โอไมครอน 1 ราย อีก 2 รายเป็นสายพันธุ์เดลต้า มีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ 126 ราย ทั้งหมดอยู่ระหว่างการกักตัวสังเกตอาการ
“ส่วนรายละเอียดการเฝ้าระวังสายพันธุ์ในประเทศไทย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้แจงถึงสายพันธุ์เฝ้าระวังในประเทศไทยขณะนี้มากที่สุดคือสายพันธุ์เดลต้า 68.67% แต่ลดลงจากที่มีรายงานก่อนหน้านี้ สายพันธุ์อัลฟา 29.79%, สายพันธุ์เบต้า 1.41% และโอไมครอน 0.13%” ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าว
พญ.สุมนี กล่าวว่า สถานการณ์โอไมครอนในประเทศไทยในขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโอไมครอนเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่มขึ้น ทุกรายที่ติดเชื้อโอไมครอนในประเทศไทยเกี่ยวโยงกับการเดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่ง 1 ใน 4 ไม่ได้เป็นมาจากประเทศแถบแอฟริกาเท่านั้น แต่เป็นนักท่องเที่ยวที่มาจากหลายประเทศทั่วโลก
“ต้องยกระดับมาตรการของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยแน่นอน โดยศบค.ชุดเล็กจะพิจารณาเบื้องต้นและเสนอ ผอ.ศบค.เพื่อพิจารณา โดยปรับจากการเข้าประเทศแบบ Test and Go ไปเป็นระบบที่ต้องตรวจ RT-PCR หรือเพิ่มระยะเวลากักตัวเมื่อมาถึงไทย ส่วนจะเป็นกี่วันนั้นต้องรอติดตามมาตรการต่อไป” ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. กล่าว.-สำนักข่าวไทย