กรุงเทพฯ 18 ม.ค.-พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน วันที่ 17 ก.พ.นี้ กำหนดแนวทางรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2560 ผลิตรวม1,000 เมกะวัตต์
พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า การส่งเสริมพลังงานทดแทน เป็นไปตามแผนพลังงานทดแทน 20 ปี โดย ในปี2560 ตามแผนจะมีกำลังผลิตรวม 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งตามแผนจะต้องมีการประกาศรับซื้อใหม่ราว 650 เมกะวัตต์ ในขณะที่ จะมีสัดส่วนจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ภาคพื้นดิน หรือโซลาร์ฟาร์ม ในส่วนส่วนของราชการและสหกรณ์การเกษตร ที่เหลืออยู่อีกกว่า 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะต้องเสนอให้ที่ประชุม กพช.พิจารณาว่าจะกำหนดแนวทางการรับซื้ออย่างไร ซึ่งจะเสนอเน้นรูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบสัญญาเสถียร(Firm) ที่เป็นเกณฑ์รับซื้อแบบผสมผสาน(ไฮบริด)ที่เน้นเอสพีพี (รายเล็ก มากกว่า 10 เมกะวัตต์ ) มากกว่า วีเอสพีพี (รายเล็กมาก ต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์)
นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า โครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน(ไฮบริด)นอกจากจะมีรูปแบบสัญญาเสถียร(Firm) จะเสนอรูปแบบสัญญาเสถียรระยะสั้น(Semi Firm)เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยเน้นเชื้อเพลิงชีวมวล ชีวภาพ เพื่อผลิตไฟฟ้าได้ต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการก็สามารถเลือกเสนอส่วนผสมจากเชื้อเพลิงอื่นๆ เช่น ลม พลังงานแสงอาทิตย์ เข้ามาร่วมได้
นอกจากนี้ พพ.ยังเตรียมนำเสนอ กพช.พิจารณาให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำและพลังงานลมขนาดเล็กของหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 25 แห่ง กำลังผลิตติดตั้งรวม 5 เมกะวัตต์ กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าประมาณ 2-3 บาทต่อหน่วย และจะไม่มีการให้เงินส่วนเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบฟีดอินทารีฟ(FIT) เพราะไม่ได้เป็นโครงการที่แสวงหากำไร โดยโรงไฟฟ้าแต่ละแห่งจะผลิตไฟฟ้าไม่เกิน 100 กิโลวัตต์ –สำนักข่าวไทย