ศูนย์ประชุมฯ 14 ม.ค. – “ดร.ศุภวุฒิ” มอง “อาหารและบริการ” คือทางรอดของไทย ในโลกที่มีความแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ ชี้ไม่ต้องเป็นดีทรอย์แห่งเอเชีย แต่ต้องเป็นประเทศที่น่าเที่ยว ปลอดภัย ไม่มีการลักพาตัว พร้อมหนุนไทยเป็นฮับส่งออกอาหารไปจีน
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวในงานสัมมนา KKP Year Ahead 2025: Opportunities Unbound ว่า เศรษฐกิจและการเมืองโลกจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แน่นอน จากการเพิ่มขึ้นของนโยบายปกป้องผลประโยชน์ในประเทศของสหรัฐอเมริกา ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดรสหรัฐ และว่าจะเป็นโอกาสใหม่สำหรับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่านระเบียบโลก
การกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สองของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อาจไม่ได้หมายถึงเพียงการเปลี่ยนแปลงผู้นำของสหรัฐฯ แต่เป็นการสั่นคลอนโครงสร้างระเบียบโลกแบบที่ทุกคนรู้จัก เพราะทรัมป์ ได้แสดงความต้องการถอนตัวหรือการลดบทบาทองค์กรหรือความร่วมมือระหว่างประเทศ เช่น NATO, WHO และ COP ซึ่งสหรัฐฯ เคยเป็นผู้สนับสนุนสำคัญมาโดยตลอด การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น จึงจะไม่ใช่แค่ Presidential Change แต่เป็น Paradigm Shift และเป็นความไม่แน่นอนระดับโลก
ในส่วนของประเทศจีน ซึ่งประสบภาวะ “อ่อนใน-แข็งนอก” จากเศรษฐกิจภายในประเทศที่เปราะบาง เห็นได้จากปัญหาสินค้าคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ เงินหยวนที่อ่อนค่า ทำให้กำลังซื้อในประเทศตกต่ำ จนกระทั่งเสี่ยงต่อการเข้าสู่ภาวะเงินฝืด แต่ในเวทีโลก จีนยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการครองตลาดโลกในสินค้าอุตสาหกรรมก้าวหน้า เช่น รถยนต์ไฟฟ้า และแผงโซล่าเซลล์ ขณะที่ยุโรปซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกนั้น ประเทศหลักมีการเติบโตของเศรษฐกิจต่ำกว่า 1% และมีความไม่แน่นอนและความเปราะบางทางด้านการเมืองและความมั่นคง ดังนั้น จึงมั่นใจว่าเศรษฐกิจจะไม่สามารถพลิกฟื้นได้ใน 1-2 ปีข้างหน้า
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกผันผวน ดังนั้นเราจะอยู่กับจีนอย่างไร ก็ต้องกลับไปดูว่าจีนขาดอะไร สิ่งที่จีนขาดก็คือ น้ำมันดิบ ,การบริการ อาหารและการเกษตร หมายความว่าไทยไม่ต้องเป็นดีทรอย์แห่งเอเชีย แต่ต้องเป็นประเทศที่น่าเที่ยว ปลอดภัย ไม่มีการลักพาตัว ส่วนเรื่องผลผลิตทางการเกษตร เรื่องอาหาร จีนยังขาด เนื่องจากประชากรเยอะ จันมีประชากรมากถึง 20% ของโลก แต่มีพื้นที่เพื่อการเกษตรน้อยกว่า 10% ของพื้นที่โลก และมีทรัพยากรน้ำเท่ากับ 6% ของโลก ดังนั้น จีนจึงต้องเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรรายใหญ่ของโลกไปอีกนาน ประกอบกับประชากรของจีนที่แก่ตัวลงยิ่งทำให้ขาดแคลนอาหารสุขภาพ และนี่คือโอกาสที่ประเทศไทยจะใช้ความได้เปรียบในด้านการเกษตรและอาหารในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะในอนาคตความต้องการอาหารของจีน จะโตกว่าความต้องการอาหารโลก นอกจากนี้ จีนก็ยังนำเข้าสุทธิการบริการ มีความต้องการในด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ซึ่งในส่วนนี้ไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา เพราะไม่ว่าจีนหรือสหรัฐฯ ก็ไม่มีแนวคิดที่จะเก็บภาษีนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวเมืองไทย
ดังนั้น ไทยควรขยายการท่องเที่ยวไปสู่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งจะทำให้มีอาหารที่ดีในประเทศและขยายไปสู่การส่งออกไปยังประเทศจีน นอกจากนี้ยังหนุนแนวคิดรัฐบาลในการทำตัวเองเป็นโลจิสติกฮับ ในเรื่องอาหารและบริการ เนื่องจากขณะนี้หลายประเทศส่งอาหารผ่านไทยไปยังจีน. -517-สำนักข่าวไทย