กรุงเทพฯ 14 ม.ค. – “ทักษิณ” แนะหลายมาตรการฟื้นเศรษฐกิจ หวังดันจีดีพีโตร้อยละ 5 ภายในปี 70 หนุนดัชนีหุ้นไทยพุ่ง 1,800 จุด ทดลอง “ภูเก็ต” ใช้ บิทคอยน์ซื้อขายสินค้า เดินหน้าขยับ Vat ปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ
ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษในงาน Dinner Talk “Chat with Tony Bull Rally of Thai Capital” ว่า เมื่อ “ทรัมป์” ประกาศเตรียม หนุนการใช้คริบโต “บิตคอยน์” ควบคู่กับการใช้สกุลดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นไทยจึงต้องปรับตัว รองรับการใช้คริปโต เคอเรนซี่ เพราะเป็นกระแสโลกยุคใหม่ เดินไปในทิศทางนี้ จึงเสนอแนะให้รัฐบาลไทยนำร่อง Sand Box ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นทางเลือกการใช้เหรียญบิทคอยน์ชำระเงินในการซื้อสินค้าที่พักโรงแรม ซื้อรถยนต์ และเดินหน้าส่งเสริมการโอนเงิน Digital Wallet ตามที่รัฐบาลได้เตรียมการเอาไว้ จึงเสนอการบ้านให้กระทรวงการคลังหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาหาแนวทางการใช้คริบโต เคอเรนซี่
ดร.ทักษิณ เสนอแนะให้กระทรวงการคลัง ศึกษาแนวทางเพิ่มอำนาจให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. เพื่อควบคุมดูแลวงการตลาดทุน ติดตามกำกับดูแล คุมเข้ม เอาผิดได้อย่างทันท่วงที เพื่อสร้างความโปร่งใส เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในตลาดทุน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ออกมาตรการดึงดูดเอกชนเข้ามาจดทะเบียนในตลาดทุนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณหุ้นคุณภาพ ยอมรับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้จากการออกหุ้นกู้ของบริษัทจดทะเบียนกระทบต่อนักลงทุนจำนวนมาก จึงต้องหาแนวทางใหม่ในการระดมเงินแทนการออก Bond เพื่อให้เม็ดเงินออกไปสู่ระบบเศรษฐกิจ ยอมรับ ความเสี่ยง ทำให้เกิดกำไร หากเสี่ยงน้อยกำไรน้อย รวมถึงปรับเงื่อนการลงทุน ผ่านกองทุน LTF ซึ่งกำลังครบกำหนดจำนวนมากให้มีเงื่อนไขจูงใจเหมือนกับกองทุน Thai ESG
เมื่อรัฐบาลผลักดันเศรษฐกิจผ่านหลายโครงการ คาดหวังว่าจะทำให้จีดีพีในปี 68 ขยายมากกว่าตัวร้อยละ 3 ในปี 69 โตร้อยละ 4 ในปี 70 เติบโตร้อยละ 5 เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น คาดหวังดัชนีหุ้นไทยอาจขยับไปได้ถึง 1,800 จุด ช่วง 3 ปีข้างหน้าภายในรัฐบาลชุดนี้ โดยเฉพาะกระทรวงคลัง จึงต้องทำให้เกิดความโปร่งใส สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติ เพิ่มอำนาจให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. เอาผิดผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน คุมเข้มการจำนำหุ้น ต้องออกมาตรการ ให้ชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้นักลงทุนรับรู้
ดร.ทักษิณ เสนอรัฐบาลเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ลดต้นทุนค่าไฟฟ้า 3.70 บาทต่อหน่วย สร้างแรงจูงใจให้กับต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศโดยเฉพาะด้าน AI การพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสมัยใหม่ เนื่องจากอุตสหากรรมดังกล่าว ต้องใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก มองว่า รัฐบาลยังมีหลายช่องทางดึงต้นทุนการโรงไฟฟ้าให้ลดลงหลายช่องทาง และไทยมีปริมาณสำรองไฟฟ้าส่วนเกิน ทำให้นักลงทุนต่างชาติ มองเห็นศักยภาพ และมีต้นทุนต่ำลง ขณะนี้กำลังเจรจากับต่างชาติรายใหญ่อีกหลายราย คาดว่าจะมีเงินลงทุนเข้าประเทศในเร็วๆ นี้หลายแสนล้านบาท
หลังจากสภาผ่านรับทราบกฎหมายภาษีส่วนเพิ่ม “ภาษี GMT” ต้องจ่ายภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เมื่อเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศ OECD ต้องเสียภาษีระหว่างกันร้อยละ 15 ไทยจึงต้องเก็บภาษีดังกล่าว ตั้งแต่ต้นทาง เมื่อปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือร้อยละ 15 จำเป็นต้องหาแนวทางปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละ 7 ในปัจจุบัน ซึ่งกระทรวงคลังกำลังศึกษาว่าจะปรับเพิ่มอย่างไรให้เหมาะสม โดยมีระบบสวัสดิการผ่าน Negative Income Tax (NIT) ด้วยการให้เงินช่วยเหลือจากรัฐบาลแทน หากผู้มีรายได้ต่ำกว่าระดับข้อกำหนดต้องเสียภาษี รัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนเพื่อเพิ่มรายได้ให้แทน. -515-สำนักข่าวไทย