กทม.16 ธ.ค.- ตร.จัดกำลัง 80,000 นาย อำนวยความสะดวกด้านการจราจรประชาชนเดินทางกลับภูมิลำเนา-ท่องเที่ยวช่วงปีใหม่
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานจราจร (ผอ.ศจร.ตร.) พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ประชุมเตรียมความพร้อมอำนวยความสะดวกการจราจรประชาชนในการเดินทางกลับภูมิลำเนาและท่องเที่ยวช่วงเทศกาลปีใหม่
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ เปิดเผยว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตรียมกำลังตำรวจกว่า 80,000 นาย อำนวยความสะดวกด้านการจราจร และดูแลความปลอดภัยให้ประชาชน คาดปีนี้จะมีปริมาณรถเข้า-ออก กทม.ช่วงวันที่ 29 ธ.ค.64 – 4 ม.ค.65 มากกว่า 7 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าปี 2564 ซึ่งมีประมาณ 6 ล้านเศษ โดยประชาชนจะเริ่มเดินทางตั้งแต่ 29 ธ.ค.64 และปริมาณรถที่จะออกมากที่สุดในวันที่ 30 และ 31 ธ.ค.64 ปริมาณรถที่จะกลับเข้า กทม. มากที่สุดวันที่ 3 ม.ค.65 จึงได้กำชับทุกหน่วยงานเตรียมความพร้อม ตั้งแต่การจัดทำแผนที่แสดงเส้นทางสำรอง เส้นทางเลี่ยง และเส้นทางลัด ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คืนพื้นผิวจราจรให้ภายใน 25 ธ.ค.64 เช่น ถนน.มิตรภาพ กม.31 ซึ่งมีการก่อสร้างทางขึ้นลง Motorway M6 จัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยการจราจรในแต่ละเส้นทาง บริเวณทางร่วมทางแยกและหน้าสถานีบริการน้ำมันหรือจุดแวะพักรถ โดยมีศูนย์ควบคุมสั่งการที่กองบังคับการตำรวจทางหลวง มีสายด่วน 1193 หรือ เพจ facebook ตำรวจทางหลวง และศูนย์ควบคุมและสั่งการจราจร (บก.02) สายด่วนหมายเลข 1197 (พื้นที่ กทม.) เพื่อให้บริการประชาชน ในการสอบถามเส้นทาง รับแจ้งอุบัติเหตุ
นอกจากนี้ ยัง ออกข้อบังคับหัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรทั่วราชอาณาจักร 2 ฉบับ คือ ข้อบังคับฯ ว่าด้วยการกำหนดช่อง หรือแนวทางเดินรถขึ้นและล่อง (Reversible Lane) ขาออก กทม. 9 เส้นทาง ระหว่าง 29 ธ.ค.64- 1 ม.ค 65 และขาเข้า กทม. 16 เส้นทาง ระหว่าง 1 ถึง 4 ม.ค.65 เพื่อใช้เป็นช่องทางพิเศษ เพื่อระบายรถช่วงที่หนาแน่นให้คล่องตัว และ ข้อบังคับฯ ว่าด้วยการกำหนดห้ามรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป เดินในถนนบางสาย ตั้งแต่30-31 ธ.ค.64 และตั้งแต่ 2 – 4 ม.ค.65 เส้นทางห้ามวิ่ง 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 194 กม. ทั้งนี้สำหรับรถบรรทุกที่มีความจำเป็นต้องเดินรถในช่วงเวลาดังกล่าว สามารถยื่นคำขอขออนุญาตผ่านระบบออนไลน์ของ บก.ทล.ได้ที่ www.hwpdth.com โดยเริ่มเปิดระบบขออนุญาตทางออนไลน์ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.64 เป็นต้นไป
พร้อมบังคับใช้กฎหมายเพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน บังคับใช้กฎหมายจราจร 10 ข้อหาหลัก (10 รสขม) ดำเนินคดีอย่างจริงจังกับผู้ที่ขับรถในขณะเมาสุรา ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด รวมทั้งกำหนดมาตรการบังคับใช้กฎหมายกับการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่มีลักษณะก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้รถใช้ถนนใน 4 ข้อหาสำคัญ ได้แก่ 1) ขับรถย้อนศร 2) ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร 3) ขับรถจักรยานยนต์บนทางเท้า และ 4) ขับรถโดยประมาทหรือน่าหวาดเสียว และหากพฤติการณ์มีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชน จะดำเนินคดีเพิ่มในข้อหา “ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น” ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับ 2,000 – 10,000 บาท โดยในการตรวจจับการกระทำผิด จะใช้วิธีการตั้งจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ตามมาตรฐาน (Standard Operation Procedure) รวมถึงการใช้ชุดสายตรวจจราจรออกตรวจในพื้นที่เสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุหรือมีสถิติการกระทำผิดบ่อยครั้ง ซึ่งจะเริ่มบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.64 เป็นต้นไป และกรณีเกิดอุบัติเหตุ ตำรวจจะตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกรายกรณีเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงการสอบสวนขยายผล ในกรณี ที่เด็กหรือเยาวชนดื่มสุราแล้วมาขับรถ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ขายสุรา ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ และดำเนินคดีกับบุคคลที่ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอม ให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือบุคคลที่ และบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 อย่างเข้มงวด (การห้ามจำหน่ายสุราในเวลาห้าม และ ห้ามดื่ม-ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ในสถานที่กฎหมายกำหนด และห้ามขายให้บุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี)
รอง ผบ.ตร ยังย้ำว่าในส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจ ให้ปฎิบัติหน้าที่ช่วยเหลือ ดูแลความปลอดภัย ให้ประชาชนอย่างเต็มที่ ทุกนายห้ามลาช่วงเวลาดังกล่าว.-สำนักข่าวไทย