กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – ธปท.เผยผลสำรวจเดือน พ.ย.64 ยอดขาย การจ้างงาน และสภาพคล่องของธุรกิจ ฟื้นตัว สวนทางความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกที่ลดลงเล็กน้อย จากการแข่งขันสูง กำลังซื้อต่ำ กังวลโควิด-19
ธนาคารแห่งประเทศไทย รายงานผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) และผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (RSI) เดือนพฤศจิกายน 2564 ดังนี้โดยผลสำรวจเรื่องผลกระทบจากไวรัส COVID-19 ต่อภาคธุรกิจไทย (BSI COVID) เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยรวมระดับการฟื้นตัวของยอดขาย การจ้างงาน และสภาพคล่องของธุรกิจปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากความเชื่อมั่นและกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น ตามการควบคุมการแพร่ระบาดโควิดที่ดีขึ้น การผ่อนคลายมาตรการควบคุมเพิ่มเติม การเปิดประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ขณะที่การเปิดประเทศ 1 พ.ย. 64 ส่งผลต่อรายได้ของธุรกิจในภาคที่มิใช่การผลิตมากกว่าการผลิต โดยส่วนใหญ่เห็นว่ารายได้ยังเป็นไปตามคาดไว้
แม้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ธุรกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งยังไม่มีแนวโน้มปรับราคาสินค้าและบริการในอีก 3 เดือนข้างหน้าเนื่องจากการแข่งขันสูง และกำลังซื้อที่อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้างที่ปรับราคาได้ยากกว่าธุรกิจอื่น สำหรับกลุ่มที่มีแนวโน้มจะปรับเพิ่มราคา ส่วนใหญ่คาดว่าจะปรับขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 20 ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น
ด้านผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retailer Sentiment Index: RSI) เดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย พบว่าความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีกปรับลดลงเล็กน้อยทั้งภาวะปัจจุบันและอีก 3 เดือนข้างหน้าจากผลของกำลังซื้อที่ต่ำกว่าคาด และความกังวลต่อการแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ ในระยะข้างหน้า หากไม่มีมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มเติม คาดว่าความเชื่อมั่นจะปรับลดลง
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่า ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน โดยเฉพาะในช่วงแรกหลังการผ่อนคลายมาตรการฯ เมื่อ 1 พ.ย. 64 อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่มีโปรโมชั่นทั้งจากร้าน Online และ Offline และเริ่มชะลอลงตามลำดับ สะท้อนกำลังซื้อที่ยังไม่เข้มแข็งและ Pent-up demand ที่มีจำกัด.-สำนักข่าวไทย