ทุ่ม 4 แสนล้านเดินหน้าเศรษฐกิจชีวภาพใน 10 ปี

กรุงเทพฯ 23 ม.ค. – 23 หน่วยงานประกาศเจตนารมณ์สร้าง Bioeconomy ตามนโยบายประชารัฐ สู่การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม New S-Curve ทุ่มเงินลงทุน 400,000 ล้านบาทใน 10 ปี


คณะทำงานด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (New S-Curve) ซึ่งมีนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้าทีมภาครัฐ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หัวหน้าทีมภาคเอกชนจัดพีธีลงนามความร่วมมือสร้างเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ภายใต้โครงการประสานพลังประชารัฐ ด้านการพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (D5:New S-Curve) ของ 23 หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและวิจัย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านเศรษฐกิจชีวภาพของไทยที่สอดรับกับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยใช้พืชเศรษฐกิจที่ไทยมีความพร้อม  เช่น มันสำปะหลังและอ้อยเป็นพืชนำร่อง  ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมจะต้องต่อยอดด้วยการสร้างความเข้มแข็งของภาคเกษตรกรรมของไทยสู่ Bioeconomy  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการ 3 เรื่อง คือ ยกระดับเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร  โดยมองภาพรวมทั้งประเทศและต้องนำร่องว่าสินค้าเกษตรใดมีอนาคตและโลกต้องการ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ พลังงาน เป็นต้น ประการที่ 2  ต้องทำให้ดีกว่าไบโอโพลิสของสิงคโปร์ เพราะไทยอยู่ในจุดที่ได้เปรียบเป็นประเทศเกษตรกรรมและต้อง  Inclusive growth โดยการผลิตจะต้องคิดว่าภาคเกษตรได้อะไรบ้าง อย่าทำลายระบบนิเวศ ต้องทำให้ชีวิตเกษตรกรดีขึ้น ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องให้ภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันและช่วงต่อไปให้มีภาคประชาชนรายย่อยด้วย โดยจะชี้เป้าว่าจะให้สินค้าใดมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นและต่อวงจรให้ครบ ทั้งหมดนี้ คือ  ประเทศไทย 4.0 ที่ตั้งใจไว้ และสุดท้าย คือ สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมชี้ให้ชัดเจนว่าจะให้มีการลงอะไรบ้างในระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยต้องให้เกิดขึ้นภายในปีนี้


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพประกาศแผนการลงทุนระยะเวลา 10 ปี มูลค่าประมาณ 400,000 ล้านบาท  โดยเฟส 1 ระหว่างปี 2560-2561 เม็ดเงินลงทุน 51,000 ล้านบาท เริ่มต้นทันทีที่จังหวัดระยอง  พร้อมขยายสู่เขตอีสานตอนกลางในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง และปีที่ 10 จะสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอ้อยได้มากกว่า 300,000 ล้านบาทต่อปี มันสำปะหลังกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี โดยเกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มเป็น 75,000 บาทต่อคนต่อปี จ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งโรงงานผลิตและการวิจัยที่เกี่ยวข้องไม่ต่ำกว่า 20,000 ตำแหน่ง และที่สำคัญยังเป็นการลดคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้ฟอสซิลได้มากถึง 70 ล้านตัน เป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลที่มีต่อประชาคมโลกที่นายกรัฐมนตรีสนับสนุนให้ความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ประเทศฝรั่งเศส  พร้อมกันนี้จะบริหารจัดการรูปแบบเกษตรสมัยใหม่ (Modern Farming) เพื่อให้เกษตรกรสามารถปลูกพืชเกษตรที่มีคุณภาพและผลผลิตสูงด้วยต้นทุนต่ำลง อีกทั้งยังสามารถเปลี่ยนวัตถุดิบทางการเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูง (Biorefinery) และสร้างเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมครบวงจร (Biopolis) ที่มีระบบคมนาคมทันสมัย ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร และสถาบันวิจัยขั้นสูง

สำหรับ Bioeconomy เป็นการนำ 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ เกษตรกรรมสมัยใหม่ และ Biorefinery มาบริหารจัดการ ด้วย Technology และ Research and Development เพื่อให้เกิดคุณค่าและสร้างมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนจากเศรษฐกิจฐานเกษตรกรรมไปเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดย Bioeconomy จะใช้สินค้าเกษตรจากมันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรไทยส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก เป็นตัวนำร่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดอุตสาหกรรมลักษณะห่วงโซ่ที่เพิ่มมูลค่า (Value Chain) ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เช่น เอทานอล พลังงานไฟฟ้าชีวมวล เพื่อเป็นพลังงานทางเลือกที่มั่นคงและแข่งขันได้ อุตสาหกรรมชีวเคมี ได้แก่ พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ที่จะเข้ามาเป็น Ingredient ผสมในอาหารแทนการใช้สารเคมี หรือแม้แต่ผสมในอาหารสัตว์ เพื่อให้สัตว์ได้รับโปรตีนจากธรรมชาติที่ดีมีความสมบูรณ์ ตลอดจนอุตสาหกรรมทางชีวเภสัชภัณฑ์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมใหม่และมีอนาคตและต้องมีการลงทุนทางด้าน Research and Development สูง

นายอุตตม กล่าวว่า  10 ปีที่ผ่านมา Bioeconomy เป็นกระแสที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด  สำหรับไทยมีความได้เปรียบในการแข่งขันจากความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพราะมีกลุ่มเกษตรกรที่มีความสามารถสร้างผลิตผลการเกษตรที่มีคุณภาพ มีความเข้มแข็ง ในอุตสาหกรรมอาหารและพลังงานชีวภาพที่มีความพร้อม เพื่อพัฒนาไปสู่กลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ที่เรียกว่า Bioeconomy ซึ่งกลุ่มประชารัฐกำลังจัดทำ Roadmap สำหรับ Bioeconomy โดยจะเริ่มต้นขับเคลื่อนในพื้นที่ EEC  ที่มีฐานอยู่เดิม ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร หุ่นยนต์ และอากาศยาน  การเริ่มต้นของ Bioeconomy สามารถเริ่มต้นได้ทันทีที่จังหวัดระยอง และจาก Roadmap ที่วางไว้จะสามารถขยายไปยังภาคอีสาน อีกด้วย


สำหรับการลงนามครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอีกหนึ่งพลังใหม่ในการขับเคลื่อนสู่การมีส่วนร่วมและการสร้างผลประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกภาคส่วน (Inclusive Growth)  การสร้างความแข็งแกร่งจากภายในประเทศและจากความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว (Productive Growth) รวมความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ที่จะเกื้อหนุนประเทศไทยให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและประเทศไทย 4.0 ได้

พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โครงการ Bioeconomy ประกอบด้วยภาคเกษตรกรรม และ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่   พลังงานชีวภาพ   ชีวเคมีภัณฑ์ อาหารแห่งอนาคต อาหารสัตว์แห่งอนาคต และชีวเภสัชภัณฑ์  โดยกระทรวงพลังงานเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานชีวภาพที่จะสามารถพัฒนาต่อยอด ได้ก่อน เนื่องจากพัฒนาระดับหนึ่งแล้ว ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนปี  2558-2579 (Alternative Energy Development Plan 2015) ที่มีเป้าหมายที่จะลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน การกำหนดให้มีการใช้พลังงานทดแทนในอัตราร้อยละ 30 ของการใช้พลังงานของประเทศและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 70 ล้านตัน

ทั้งนี้ พลังงานชีวภาพจากโครงการประชารัฐเป็นการพัฒนาต่อยอดจากการใช้พลังงานทดแทนที่มีการใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ จะเริ่มต้นจากพืชเกษตรเป้าหมายที่ทางคณะกรรมการประชารัฐ D5 เห็นว่ามีความเหมาะสมในการนำไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าได้ก่อน ได้แก่ มันสำปะหลังและอ้อย ซึ่งเป็นสินค้าเกษตรต้นน้ำที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลก ซึ่งพืชเกษตรทั้ง  2 ชนิดนี้กระทรวงพลังงานนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเชื้อเพลิงชีวภาพอยู่แล้วคือเอทานอลที่นำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเป็นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 E20 และ E85 แต่ภายใต้โครงการนี้ กระทรวงพลังงานเห็นว่าพืชเกษตรทั้ง 2 ชนิดนี้ยังสามารถพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้อีก อาทิ การนำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันดีเซลหรือที่เรียกว่าดีโซฮอล โดยเป็นการผสมน้ำมันไบโอดีเซล B7 ร้อยละ 90 กับเอทานอลในอัตราส่วนร้อยละ 10 การพัฒนาก๊าซมีเทนชีวภาพอัด (Compressed Bio-Methane Gas หรือ CBG) ทั้งจากน้ำเสียและวัตถุดิบที่มาจากอุตสาหกรรมอ้อยและมันสำปะหลังเพื่อนำมาใช้แทนก๊าซ NGV ในภาคขนส่ง รวมถึงการเข้าไปปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าในโรงงานน้ำตาลเพี่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า หลักการของเศรษฐกิจชีวภาพมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืน เศรษฐกิจชีวภาพจึงเป็นรูปแบบการพัฒนาที่สอดคล้องตามกระบวนทัศน์ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs “เศรษฐกิจชีวภาพ” จึงเป็นทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งอนาคตของทั่วโลก รวมถึงไทยนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบชีวภาพและทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มากของแต่ละประเทศ  กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ พร้อมให้การสนับสนุนทุกด้าน ทั้งร่วมวิจัยพัฒนาและการให้เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย มีเมืองอุตสาหกรรมอาหาร (Food Innopolis)  มีศูนย์นวัตกรรมอาหารและอาหารสัตว์ (Food Feed Innovation Center) ที่เป็น   One-Stop Service ส่งเสริมให้ SMEs ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขัน  ศูนย์ชีววัสดุแห่งประเทศไทยที่ให้บริการจุลินทรีย์ที่ได้มาตรฐานสากล มีจุลินทรีย์ที่พร้อมให้บริการมากกว่า 70,000 สายพันธุ์ นอกจากนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พัฒนาระบบการให้บริการเทคนิคด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแบบเบ็ดเสร็จ (MOST One Stop Service) ที่เชื่อมโยงและบูรณาการเครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่างๆ ที่มีอยู่ภายใน

นายประเสริฐ กล่าวถึงความคืบหน้าการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ว่า  แผนการดำเนินงานเพื่อพัฒนา Bioeconomy ระยะ10 ปี มีกรอบการลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 400,000  ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปี 2560-2561 เงินลงทุนประมาณ 51,000 ล้านบาท เพื่อต่อยอดการพัฒนาพลังงานชีวภาพ เคมีชีวภาพ อาหาร และชีวเภสัชภัณฑ์ ผลักดันการสร้างอุปสงค์และตลาด ระยะ 2 ปี 2562-2564 เงินลงทุนประมาณ 182,000 ล้านบาท เพื่อสร้าง Biorefinery Complexes ที่ครบวงจร และเมืองใหม่บนเศรษฐกิจชีวภาพและนวัตกรรมอย่างครบวงจร Biopolis และระยะที่ 3 ปี 2565-2569 เม็ดเงินลงทุนประมาณ 132,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับสู่ Regional Hub เป็นต้นแบบอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาและ วิจัยครั้งนี้ เป็นความร่วมมือของทั้ง 3 ภาคส่วน ทำหน้าที่ร่วมกันสร้าง เศรษฐกิจชีวภาพ ซึ่งเป็นเศรษฐกิจคลื่นลูกใหม่ ตามนโยบายประชารัฐ ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนจะร่วมมือกันทำให้เกิดความเชื่อมโยง   ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะเข้าใจความต้องการของกันและกันมากขึ้น ภาคการศึกษาและวิจัย จะมีโจทย์ที่ชัดเจนขึ้น  ในการพัฒนา เทคโนโลยีที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนา  Bioeconomy ตั้งแต่ Lab-scale จนถึงโรงงานต้นแบบ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน อย่างแท้จริง และส่งผลให้ประเทศไทยก้าวขึ้นเป็น  Bio Hub ของโลก ไทยจะเป็นผู้นำทั้งการเป็นผู้ผลิตอาหารแห่งอนาคตของโลก เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมด้าน Bioeconomy ของโลก รวมทั้งพัฒนาอุตสาหกรรมชีวการแพทย์ และเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain ได้ในที่สุด.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

“ทรัมป์” เดินทางถึงกรุงวอชิงตัน เตรียมเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง

นายโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางถึงสนามบินในกรุงวอชิงตันแล้วในวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ้น เพื่อเตรียมตัวเข้าพิธีสาบานตน

พ่อหวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม ลูกชายคนเล็กถูก “ติ๊ก ชีโร” ขับรถชน

พ่อหวั่นไม่ได้รับความเป็นธรรม หลังสูญเสียลูก 2 คน ถูก “ติ๊ก ชีโร” ขับรถชนตกสะพาน ย่านสายไหม กรุงเทพฯ เหตุเกิดเมื่อ 10 ต.ค.67

รถน้ำมันระเบิดไนจีเรียหลังพลิกคว่ำ เสียชีวิต 77 ราย

รถบรรทุกน้ำมันระเบิดหลังจากพลิกคว่ำในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไนจีเรีย คร่าชีวิตชาวบ้านอย่างน้อย 77 คนที่กำลังเอาถังมารองน้ำมันที่รั่วไหลจากรถบรรทุก

ข่าวแนะนำ

นายกฯ ร่วมประชุม World Economic Forum ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

นายกรัฐมนตรีมีกำหนดเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และตอกย้ำให้นักลงทุนและภาคเอกชนเชื่อมั่นใน “โอกาสของประเทศไทย” ตามแคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง”

วันแรก กทม.ขอประชาชน Work From Home

หลังวันแรก กทม. ขอความร่วมมือประชาชน Work From Home พบว่าการจราจรบางจุดคล่องตัว รถลดลง แต่หลายจุดรถยังหนาแน่น โดยการประกาศขอความร่วมมือของ กทม. หลังค่าฝุ่น PM 2.5 ตลอดสัปดาห์เป็นสีส้ม ได้รับความร่วมงานจากหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ จำนวนมาก

ยื่นดีเอสไอรับคดีแตงโมเป็นคดีพิเศษ ขีดเส้น 1 เดือน

“อาจารย์ปานเทพ-บอสณวัฒน์” พาตัวแทนมิสแกรนด์ 2025 ทั้ง 77 จังหวัด ยื่นดีเอสไอขอรับคดีแตงโมตกเรือเป็นคดีพิเศษ ขีดเส้น 1 เดือน

คนร้ายอุกอาจยิงระเบิด M79 ใส่ สภ.กะพ้อ จ.ปัตตานี 2 ลูก

คนร้ายอุกอาจยิงระเบิด M79 ใส่ สภ.กะพ้อ จ.ปัตตานี จำนวน 2 ลูก โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ด้าน รอง ผบก.ภ.จว.ปัตตานี กำชับเจ้าหน้าที่เร่งรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบกล้องวงจรปิด พร้อมวางมาตรการคุมเข้มในพื้นที่