กรุงเทพฯ 25 พ.ย. – “รมว. ทส.” เป็นประธานเปิดการประชุม “ทศวรรษแห่งมหาสมุทร” ขององค์การสหประชาชาติ โดยยืนยัน ไทยพร้อมเป็นผู้นำขับเคลื่อนการดำเนินงาน ด้าน “กรมทะเล” เตรียมสรุปผลลัพธ์ทำแผนปฏิบัติการเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการแก้ปัญหามหาสมุทร
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นประธานเปิดการประชุม The UN Ocean Decade Kickoff Conference for Western Pacific and Its Adjacent Areas หรือ “ทศวรรษแห่งมหาสมุทร” ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพร่วมกับ IOC-WESTPAC พร้อมด้วยสำนักงานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ และสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย โดยจัดประชุมเปิดตัวเป็นภูมิภาคแรกของโลก ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 25 – 26 พ.ย.
รมว. ทส. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้แสดงถึงความพร้อมของผู้นำประเทศสมาชิกที่จะร่วมใจกันแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการดำเนินงานของแต่ละประเทศ ผู้นำประเทศหลายท่านได้ขึ้นกล่าวแสดงท่าที เช่น H.E. Dato Tuan Ibrahim Bin Tuan Man รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและน้ำ ประเทศมาเลเซีย H.E. Hong Wang รัฐมนตรีช่วยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติของจีน H.E. Takashi Yanagi รองรัฐมนตรีอาวุโส กระทรวงศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น H.E. Laksana Tri Handoko ประธานองค์กรวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ประเทศอินนีเซีย เป็นต้น ภายใต้วิสัยทัศน์แห่งทศวรรษมหาสมุทร “วิทยาศาสตร์ที่จำเป็นต้องรู้ เพื่อมหาสมุทรที่เราต้องการ” สำหรับประเทศไทย รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ แก้ไขปัญหาความท้าท้ายทั้ง 10 ประการ และบรรลุผลลัพธ์ทั้ง 7 ด้านภายใน 10 ปีนี้
ทั้งนี้ มั่นใจว่า ประเทศไทยสามารถขับเคลื่อนได้ตามเป้าหมาย พร้อมเป็นผู้นำการดำเนินงานในระดับภูมิภาค และเตรียมขยายผลสร้างความร่วมด้านทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ต่อไป รวมทั้งเห็นว่า การเรียกร้องให้ทุกประเทศสมาชิกแปซิฟิกตะวันตกร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นทางออกที่มีประสิทธิภาพและสามารถช่วยให้มหาสมุทรของเราทุกคนเกิดการดูแลและบริหารจัดการอย่างยั่งยืน “แม้มหาสมุทรจะมองเหมือนพื้นที่ที่กว้างใหญ่ แต่คงไม่ใหญ่เกินกว่าที่เราทุกคนจะช่วยกันดูแลได้” นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้เป็นที่ตั้งสำนักงานประสานงานทศวรรษแห่งมหาสมุทร (Decade Coordination Office: DCO) ในแถบภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก จะเป็นเสมือนศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปข้อกำหนดต่าง ๆ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพและบทบาทสำคัญในการทำงานในช่วงทศวรรษแห่งมหาสมุทร รวมถึง การขยายโอกาสในการทำงานด้านอื่นๆ ในฐานะประเทศผู้นำ
ด้านนายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดี และได้รับความสนใจจากหน่วยงาน องค์กร และผู้สนใจจากทั่วโลกกว่า 1,163 คน จาก 75 ประเทศ โดยในพิธีเปิดมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมกว่า 722 ราย และลงทะเบียนเข้าร่วมอภิปรายกลุ่ม 441 ราย โดยกลุ่มประเทศสมาชิกแปซิฟิกตะวันตก 22 ประเทศ ส่งผู้แทนเข้าร่วมทั้งสิ้น 19 ประเทศ ยกเว้น ประเทศเกาหลีเหนือ ตองกา และหมู่เกาะโซโลมอน อย่างไรก็ตาม การประชุมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งการประชุมในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 จะเป็นการประชุมอภิปรายกลุ่ม (Incubator) ในอีก 17 หัวข้อ ซึ่งผลลัพธ์จากการอภิปรายกลุ่มจะสรุปเพื่อนำไปจัดทำแผนการดำเนินงานทศวรรษแห่งมหาสมุทร โดยผ่านกลไกการทำงานของสำนักงานประสานงานทศวรรษแห่ง ต่อไป ทั้งนี้ ในฐานะที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานดำเนินการหลัก จะได้เร่งรัดประสานและขับเคลื่อนการทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ที่กำหนด ทั้งนี้ จะเร่งสรุปผลลัพธ์การประชุมเพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกับ IOC-WESTPAC และประเทศสมาชิกในภูมิภาคแปซิฟิกต่อไป.-สำนักข่าวไทย