องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ แถลงผลการสำรวจร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ประจำปี 2567 เมื่อวันพุธที่ 8 มกราคม 2568 พบว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย มีจำนวน 5,916 ร้าน เพิ่มขึ้น 165 ร้าน หรือ 2.9% เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งที่แล้ว (ปี 2566 มี 5,751 ร้าน) โดยมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้น ทั้งในกรุงเทพฯ (2.7%) 5 จังหวัดปริมณฑล (2.7%) และต่างจังหวัด (3.1%)
เมื่อวิเคราะห์ตามประเภทร้านอาหาร พบว่า ร้านประเภทโซบะ/อุด้ง ร้านคาเฟ่ และร้าน Izakaya มีอัตราการเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ร้านซูชิ ซึ่งเป็นประเภทร้านที่มีจำนวนร้านมากที่สุดตั้งแต่ปี 2563 ถึงปี 2566 ลดลงเหลือ 1,279 ร้าน หรือ -6.8% ลดอันดับลงไปอยู่รองจากร้านประเภทภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดคือ 1,439 ร้าน
จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น หลายท่านให้ความเห็นว่า หลายปีที่ผ่านมามีร้านซูชิคุณภาพดีและราคาไม่แพงเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องการซูชิที่มีคุณภาพดียิ่งขึ้นกว่าในอดีต ก่อให้เกิดผลกระทบต่อร้านซูชิที่แข่งขันกันด้านราคา และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ร้านซูชิมีจำนวนลดน้อยลง
เมื่อวิเคราะห์ร้านตามระดับราคาเฉลี่ยต่อหัว พบว่า ร้านที่มีราคาเฉลี่ยต่อหัว 101-250 บาท มีจำนวนมากที่สุด (2,057 ร้าน) รองลงมาคือ ระดับราคา 251-500 บาท (1,401 ร้าน) ตามด้วยระดับราคาต่ำกว่า 100 บาท (749 ร้าน) ระดับราคา 501-1,000 บาท (681 ร้าน) และระดับราคามากกว่า 1,000 บาท (270 ร้าน) โดยร้านระดับราคามากกว่า 1,000 บาท มีอัตราเพิ่มมากขึ้นถึง 13.9%
สำหรับร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัด จ.เชียงใหม่ มีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 23 ร้าน รวมเป็น 280 ร้าน จ.นครปฐม มีเพิ่มขึ้น 15 ร้าน รวมเป็น 104 ร้าน จ.ภูเก็ต มีเพิ่มขึ้น 11 ร้าน รวมเป็น 142 ร้าน ทั้งนี้ มีร้านอาหารญี่ปุ่นดำเนินกิจการอยู่ในทุกจังหวัดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563
การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารโดยรวมทวีความรุนแรงขึ้น รวมทั้งธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องพบว่า ประเทศไทยมีการรับประทานอาหารญี่ปุ่นมาเป็นเวลานาน ชาวไทยจึงคุ้นเคยกับอาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี อุปสงค์ต่ออาหารญี่ปุ่นจึงจะยังคงมีอยู่ต่อไป อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวชาวไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น ทำให้ได้รับความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดแนวโน้มของผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคอาหารญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งค้นหาเทรนด์ใหม่ๆ ของอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ร้านอาหารญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นไปสู่นานาประเทศทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับผู้ผลิตและผู้ประกอบการในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเป็นปัจจัยขยายการส่งออกผลผลิตเกษตร ป่าไม้ ประมง และสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า “สิ่งสำคัญในการขยายการส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นมายังประเทศไทยหลังจากนี้ไป คือ การเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคในตัวเมืองที่ชอบอาหารญี่ปุ่นแบบต้นตำรับหรือของแท้ดั้งเดิม และเสริมสร้างความรู้ เปิดประสบการณ์การรับประทานอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะวัตถุดิบที่ยังไม่แพร่หลาย ให้แก่ผู้บริโภคในส่วนภูมิภาค รวมทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ”
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ในปีงบประมาณ 2567 เจโทรได้จัดงานเจรจาธุรกิจและกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารญี่ปุ่นทั่วประเทศไทย โดยเริ่มกิจกรรมประชาสัมพันธ์สินค้าอาหารญี่ปุ่น “Japan Premium Food สัมผัสความอร่อยแบบญี่ปุ่นแท้” ตั้งแต่เดือนตุลาคม ในหลายจังหวัด และจัดงานเจรจาธุรกิจที่ จ.ภูเก็ต เมื่อเดือนกันยายน และ จ.เชียงใหม่ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีกำหนดจัดงานเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการจากประเทศญี่ปุ่นที่กรุงเทพฯ ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ทั้งแบบพบหน้า (5-6 ก.พ.) และแบบออนไลน์ (25-27 ก.พ.) ทั้งนี้ เจโทร กรุงเทพฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการนำเข้าและขยายการค้าวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นให้มีมากยิ่งขึ้นต่อไป.-811-สำนักข่าวไทย