กรุงเทพฯ 19 พ.ย. -สำนักงาน กกพ.เผย ไตรมาส 1 ปีหน้าเตรียมประกาศรับซื้อไฟฟ้า”ขยะชุมชน” 200 MW ยอมรับ ต้นทุนสนับสนุนพลังงานทดแทน ส่งผลต้นทุนค่าไฟฟ้าขยับสูงขึ้นมีสัดส่วนถึง 30 สตางค์ต่อหน่วย เตือนผู้บริโภคทำใจราคาค่าไฟเอฟทีกระฉูด ตลอดทั้งปี สั่ง ม.ค.-ก.พ.งดใช้เชื้อเพลิงแอลเอ็นจี สปอต ใช้น้ำมันทดแทน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า ในไตรมาส 1/65 สำนักงาน กกพ.จะประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน 200 เมกะวัตต์ ตามกรอบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงาน (กพช.) เห็นชอบไว้ ในขณะนี้กำลังทำเรื่องรายละเอียดราคารับซื้อ ตาม กพช.ให้นโยบายไว้
นายคมกฤช กล่าวว่าแนวโน้มค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที ) ในปี 65 จะปรับขึ้นทั้งปี โดยคาดว่างวดที่ 2 (พ.ค.-ส.ค.)จะปรับขึ้น18.10 สตางค์/หน่วย งวด 3 (ก.ย.-ธ.ค.) ปรับขึ้นเป็น 34.81 สตางค์ต่อหน่วย หลังจากงวดที่ 1(ม.ค.-เม.ย.) ปรับขึ้นจากงวดก่อน 16.71 สตางค์ปรับขึ้นมาเป็น 1.39 สตางค์ต่อหน่วย สาเหตุที่ปรับขึ้น เนื่องจาก ต้นทุนเชื้อเพลิงขยับขึ้น โดยเฉพาะราคาก๊าซธรรมชาติ ที่ผันแปรตามราคาน้ำมัน ราคาแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติเหลว ) ก็ขยับสูงมาก ค่าเงินบาทก็อ่อนค่า ในขณะที่การสนับสนุนเชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ก็เป็นต้นทุนในเอฟที ราว 30 สต./หน่วยนอกจากนี้ การผลิตก๊าซฯจากแห่งเอราวัณก็ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย หลังการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทายเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ใน เดือน มีนาคม 65 ทำให้ผลิตก๊าซฯไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ทำให้ ต้องนำเข้าแอลเอ็นจี เพิ่ม
อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาแอลเอ็นจี จะลดลงหลังหน้าหนาวไปแล้วดังนั้น ในเดือน ม.ค.-ก.พ.65 กกพ.จึงสั่งการไม่ให้นำแอลเอ็นจีตลาดจร(สปอต)เข้ามาใช้และให้ นำน้ำมันทั้งดีเซล-น้ำมันเตามาทดแทน เพื่อทำให้ต้นทุนต่ำที่สุด ซึงเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส4/64 ที่ราคาแอลเอ็นจีตลาดจร สูงขึ้นนิวไฮ กว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู โดยในปี 64 นั้น ไทยมีการนำเข้าแอลเอ็นจีสปอต เข้ามาราว 6 แสนตัน ราคาประมาณ 20-33 ดอลลาร์/ล้านบีทียู นำเข้าโดย บมจ.ปตท.และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นการนำเข้าสูงกว่าประมาณการเดิมที่ 4.8 แสนตัน ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการผลิตของแล่งเอราวัณที่ต่ำกว่าประมาณการเดิม ในขณะเดียวกัน เพื่อลดความผันผวนของ ราคาแอลเอ็นจี ในการนำเข้าในปีถัดๆไปจึงขอให้ผู้นเข้าที่นำมาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้าจำหน่ายในระบบ นำเข้าเป็นสัญญาระยะกลาง-ยาว ทดแทนการนำเข้าเป็นราคาสปอต และเปิดโอกาสให้คู่สัญญาซื้อก๊าซของ ปตท.ออกจากสัญญาโดยสามารถนำเข้าแอลเอ็นจีได้เช่นกัน ซึ่งทราบว่าในขณะนี้มีเอกชน 2-3 ราย จองสถานีนำเข้าแอลเอ็นจี “หนองแฟบ” ของ ปตท.เพื่อนำเข้าแอลเอ็นจีในปี 65.-สำนักข่าวไทย