กรุงเทพฯ 18 พ.ย.- นายกสมาคมประกันวินาศภัยฯ คาดสิ้นปี 64 ยอดเคลมสินไหมทดแทน “เจอ จ่าย จบ” แตะ 40,000 ล้านบาท แนะทุกฝ่ายช่วยกันพยุงธุรกิจประกัน ไม่ให้กระทบเป็นลูกโซ่ อู่ซ่อมรถ รพ. แบงก์พันธมิตร เสนอ คปภ. ทบทวนห้ามยกเลิกกรมธรรม์โควิด-19
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงเกี่ยวกับ “สถานการณ์วิกฤติจากการรับประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอ จ่าย จบ” ว่า ยอดจำหน่ายประกันโควิด-19 ณ 15 พ.ย. เบี้ยประกันมูลค่า 1.2 แสนล้านบาท เมื่อมีผู้ป่วยติดเชื้อมากในช่วงที่ผ่านมา จึงมียอดเคลม 35,000 ล้านบาท นับว่ายอดเคลม ต้องใช้เงินกองทุนสัดส่วนร้อยละ 26.5 นับว่าเร่ิมเสี่ยงมากขึ้น และคาดว่าสิ้นปี 64 ยอดเคลมขอค่าสินไหมทดแทนแตะ 40,000 ล้านบาท ทำให้ยอดจ่ายเคลมต้องใช้เงินกองทุนสูงถึงร้อยละ 30.2 อาจมีความเสี่ยงมากขึ้น ต่อระบบธุรกิจประกันภัย
ธุรกิจประกันภัย ยอมรับว่า บริษัทประกันภัยหลายแห่ง ใช้เงินสะสมมา 30-40 ปี ขณะนี้ได้นำเงินกองทุนออกมาจ่ายชดเชยสินไหมภายใน 15 วัน ตามเกณฑ์กำหนด บางรายต้องกู้เงินมาจ่ายเคลม 5-6 พันล้านบาท หลายรายทุนหมดหน้าตักแล้ว เนื่องจากยอดเคลมเพิ่มเท่าตัว 200-300 เท่าต่อวัน จึงทำให้การจ่ายเคลมล่าช้า แต่ยืนยันไม่เบี้ยวจ่ายเงินชดเชย เนื่องจากเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ ไม่มีประวัติการรับประกันในอดีต นับว่าเป็นความเสี่ยงมาก เมื่อยอดเคลมต้องใช้เงินกองทุนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หวั่นกระทบต่อธุรกิจ อู่ซ่อมรถ โรงพยาบาล ธนาคารพันธมิตร จึงอยากให้ทุกฝ่ายร่วมกันดูแล สมาคมประกันวินาศภัยฯ หารือร่วมกันอย่างใกล้ชิด
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเพิ่มเติม ขอเสนอให้ คปภ.ทบทวนประกาศห้ามยกเลิกกรมธรรม์ “เจอ จ่าย จบ” เพราะอาจกระทบต่อธุรกิจประกันภัยในบางรายมีปัญหาได้หากทุนน้อย แต่ธุรกิจประกันส่วนใหญ่ยังเข้มแข็งมั่นคง ขณะนี้ข้อมูลปัญหาโควิด ชัดเจนมากขึ้น มีปัญหาไวรัสกลายพันธ์ จึงต้องปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับปัญหาแพร่ระบาด หลายรายพร้อมนำเงินมาจ่ายเคลมให้ครบ 4 หมื่นล้านบาทในสิ้นปี 64 เพื่อรักษาในอนุญาตธุรกิจประกันเอาไว้ แต่ขอให้ ทบทวน ยกเลิกกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ เพื่อผ่อนคลาย หากการแพร่บาดเพิ่มอีกระลอก ยอมรับเอกชนบางรายอาจยื่นฟ้องศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาการ ยกเลิกกรมธรรม์ เจอ จ่าย จบ เพื่อพยุงให้ธุรกิจประกันอยู่รอดวิกฤติในครั้งนี้
นายอานนท์ ยอมรับว่า ในช่วงปี 63 เริ่มต้นการแพร่ระบาดโดวิค-19 เพื่อจากทุกคนกลัวปัญหาการแพร่ระบาด จึงมียอดซื้อกรมธรรม์ 9 ล้านกรมธรรม์ มูลค่าเบี้ย 4,000 ล้านบาท สัดส่วนร้อยละ 90 ซื้อผ่านออนไลน์ จากนั้นในปี 64 ประกันภัยโควิด-19 ยังพุ่งต่อเนื่องถึง มิ.ย.64 มียอดขายสูงถึง 15 ล้านกรมธรรม์ บริษัทประกันจึงยุติการรับซื้อประกันภัยโควิด เพื่อบริหารและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากยอดติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง และยึดหลักรับประกันไม่เกินร้อยละ 10 ของความเสียหาย ยืนยันธุรกิจประกันภัยไม่ได้โลภ ไม่มีเจตนาเอาเปรียบผู้เอาประกัน ตามที่กระแสสังคมกล่าวอ้าง แต่ความเสียหายเพิ่ม 3 หมื่นเปอร์เซ็นต์ในวิกฤติครั้งนี้ ถือว่าหนักมาก
โดยการคำนวณเบี้ยประกัน “เจอ จ่าย จบ” หลังจากคำนวณ เบี้ยประกันแล้ว ภาคเอกชนได้เสนออนุญาติจาก คปภ. ยอมรับว่า ประกันภัยในยุคโควิด-19 ระบบประกันจะมีข้อมูลน้อยมาก แต่ธุรกิจประกันยังออกกรมธรรม์ และประเมินความเสี่ยงไปด้วย เรียนรู้ไปด้วย และต้องการแบ่งเบาภาระในการรักษาพยาบาลรักษาโควิด-19 นอกจากรัฐบาลดูแล อีกทั้งเมื่อรัฐบาลส่งเสริมธุรกรรมออนไลน์ จึงทำให้ยอดซื้อกรมธรรม์โควิด เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อรัฐบาลส่งเสริมให้ภาคธุรกิจออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยอย่างหลากหลาย รองรับปัญหาโควิด ธุรกิจประกันไม่ได้โลภมาก แต่เพื่อเข้ามาช่วย. -สำนักข่าวไทย