กรุงเทพฯ 4 พ.ย.-ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเป็นเดือนที่ 2 หลัง ศบค.ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัด แต่ยังมีความกังวนหลายอย่าง ย้ำส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1-1.5 ได้
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2564 จากผลของการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการ ซึ่งเป็นการปรับตัวดีขึ้นเต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา เนื่องจาก ศบค. ได้ผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด 29 จังหวัดเพิ่มเติมรวมถึงการลดเวลาเคอร์ฟิวลงในเดือนตุลาคมนี้ และการประกาศเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้มมาในประเทศได้รวมถึงการเลิกเคอร์ฟิวในเดือนพฤศจิกายน ประกอบกับการรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ส่งผลทางจิตวิทยาในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่คาดว่าจะทำให้การจับจ่ายใช้สอยของคนไทยในการบริโภคและการท่องเที่ยเที่ยวเพิ่มขึ้น ตลอดจนค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมีมากขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเข้ามาหมุนเวียนเพิ่มเติมในระบบเศรษฐกิจกว่าแสนล้านบาทจะทำให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีนี้ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้มงในปัจจุบันและในอนาคตปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก
ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 37.8 40.3 และ 53.5 ตามลำดับ โดยปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนกันยายน ที่อยู่ในระดับ 35.5 37.8 และ 50.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำ และรายได้ในอนาคตอย่างมาก เพราะมีความกังวลในวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง การปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 41.4 เป็น 43.9 การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเคลื่อนไหวคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโดยรวมยังคงฟื้นตัวช้าจากวิกฤต COVID-19 ในประเทศไทยและทั่วโลก ซึ่งยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ภาคการท่องเที่ยว ภาคการส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต โดยยังคงมีโอกาสบั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตได้อย่างต่อเนื่องในระยะอันใกล้นี้
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นระดับ 25.5 มาอยู่ที่ 27.3 ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำมากแสดงว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแย่มากในมุมมองของผู้บริโภค ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 48.9 มาอยู่ที่ระดับ 51.7 แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำมากเช่นเดียวกันและอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าปกติ (คือ 100) สะท้อนให้เห็นว่า ผู้บริโภคยังขาดความเชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในอนาคต อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคเริ่มรู้สึกมีความหวังว่าเศรษกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้ในอนาคต หลังจาก ศบค. ประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเคอร์ฟิวและการเปิดประเทศที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 5 เดือนนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2564 เป็นต้นมา โดยผู้บริโภคเริ่มคลายความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตรายวันในประเทศไทยเริ่มมีแนวโน้มลดลง ประกอบการฉีดวัคซีนในประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ รวมถึงการคลาย Lockdown และการเปิดประเทศ จะส่งผลในเชิงบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้ฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ผู้บริโภคเริ่มจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวมากขึ้นในปลายปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปีนี้เป็นต้นไป และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวร้อยละ 1-1.5 ได้ .-สำนักข่าวไทย