กทม. 17 ต.ค.- กรมควบคุมโรค ย้ำ “การสูบบุหรี่” เป็นสาเหตุสำคัญของ “โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง” ปัญหาสุขภาพสำคัญอันดับ 1 ของโลก หนุนประชาชนเลิกสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
วันนี้ (17 ตุลาคม 2564) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non Communicable Diseases : NCDs) ยังคงเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญอันดับ 1 ของโลก โดยองค์การอนามัยโลก (World Health Organization : WHO) ระบุว่า แต่ละปีมีประชากรทั่วโลกประมาณ 3 ล้านคน เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดจากการบริโภคยาสูบ และอีก 890,000 คน เสียชีวิตเพราะสัมผัสกับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศไทย ที่มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวถึง 314,340 ราย หรือร้อยละ 73.0 ในปี 2552 โดยกลุ่มโรคหลัก ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดเรื้อรัง ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงสุขภาพที่สำคัญร่วมกัน คือ “การสูบบุหรี่”
“สถานการณ์การสูบบุหรี่ของประเทศไทยระหว่างปี 2550-2560 พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากบุหรี่มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตที่มีประวัติการสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 72,656 คน จะเห็นได้ว่า บุหรี่ยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิต อันดับ 1 ในตลอด 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ แม้ว่าบางภาคส่วนจะมีความพยายามที่จะผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมาย สามารถจำหน่ายได้โดยทั่วไปนั้น แต่กรมควบคุมโรค ซึ่งมีหน้าที่หลักในการป้องกันควบคุมโรค และมีจุดยืนเชิงนโยบายที่ชัดเจน ในการคงมาตรการห้ามนำเข้า ห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย และห้ามสูบบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป เพื่อเป้าหมายสำคัญในการดูแลสุขภาพของประชาชนทุกคน” นายแพทย์โอภาส กล่าว
นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อไปว่า การคัดกรองการเสพติดบุหรี่และเข้าถึงระบบเลิกบุหรี่ที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้ประชาชนสามารถเลิกบุหรี่ได้มากขึ้น โดยการดูแลผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการมีกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพ หรือปรึกษาสายด่วนเลิกบุหรี่ โทร. 1600 .-สำนักข่าวไทย