สธ. 22 ก.ย.-อธิบดีกรมวิทย์ฯ แจงการรับวัคซีนโควิดผ่านชั้นผิวหนัง ลึกลงไป 1 มิลลิเมตร ให้ประสิทธิภาพ และระดับภูมิคุ้มกันเท่ากับการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ชี้เหมาะสำหรับการประหยัดวัคซีนและผู้ฉีดต้องมีความชำนาญ เร่งนำร่องในพื้นที่ จ. ภูเก็ต
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อเท็จจริงและประโยชน์ของการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อและในชั้นผิวหนัง ว่า ในการฉีดวัคซีนเข้าร่างกายมีด้วยกัน 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.การฉีดกล้าม ได้แก่ คอตีบ ,บาดทะยัก,ไอกรน 2.การฉีดใต้ผิวหนัง ได้แก่ คางทูม หัดเยอรมัน และ 3.ฉีดในชั้นผิวหนัง โดยใช้เข็มปัก 15 องศาเซลเซียส ลึกลงไปในชั้นผิวหนังหนา 1 มิลลิเมตร ใช้การฉีดวัณโรค ,พิษสุนัขบ้า โดยวิธีการฉีดวัคซีนในชั้นผิวหนัง จะช่วยประหยัดกว่าปกติถึง 1 ใน 5 ของวัคซีน จากเดิมวัคซีน 1โดส สำหรับ 1 คน แต่หากฉีดในชั้นผิวหนัง สามารถฉีดได้ถึง 5 คน
ทั้งนี้ จากการติดตามผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนในชั้นผิวหนัง พบว่ามีผลข้างเคียงเฉพาะในจุดที่รับวัคซีนมากกว่าปกติ ปวด บวมแดง มากกว่าการฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ส่วนเรื่องการเกิดภูมิคุ้มกันพบว่าไม่แตกต่างกับการรับวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า เมื่อมีการเปรียบเทียบระดับภูมิคุ้มของวัคซีน ว่าสามารถต่อสู้กับเชื้อเดลตาได้หรือไม่นั้น พบว่าวิธีการฉีดวัคซีนโควิด ระหว่างกล้ามเนื้อและในชั้นผิวหนัง ไม่แตกต่างกันเช่นกัน โดยในการฉีดวัคซีนโควิด ของแอสตราเซเนกา เข้ากล้ามเนื้อเพื่อเป็นการบูสเตอร์โดสเข็ม 3 หลังรับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม พบว่า ให้ระดับภูมิคุ้มกันที่ 52 เช่นเดียวกับการฉีดแอสตราฯ แบบเข้าชั้นผิวหนัง เพื่อเป็นเข็ม 3 ให้ระดับภูมิคุ้มกัน 52 เช่นกัน
ทั้งนี้ การวิธีการฉีดวัคซีนแบบเข้าชั้นผิวหนัง ยังไม่ได้กำหนดเป็นนโยบาย ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพื้นที่ และความชำนาญของผู้ที่ฉีด โดยเตรียมทดลองฉีดวัคซีนเข้าชั้นผิวหนัง ที่ จ.ภูเก็ต ก่อน ส่วนการติดตามเชื้อไวรัสกลายพันธุ์พบว่าขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ของไวรัสตัวใหม่เข้ามาในไทย .-สำนักข่าวไทย