กรุงเทพฯ 20 ก.ย.-กบง.ขยายเวลาตรึงราคาแอลพีจีต่อถึงสิ้นปี 64 สั่งกองทุนน้ำมันฯ หาแหล่งทุนอุดหนุนพ่วงดีเซล เตรียมแผนหากจำเป็นต้อง “กู้เงิน” หรือใช้เงินรัฐจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาท พร้อมเตรียมเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบใหม่เร็วสุดปลายปี 64
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันนี้ (20 ก.ย.) เห็นชอบให้คงราคาขายปลีกก๊าซ.หุงต้ม หรือ LPG ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ออกไปอีก 3 เดือน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม – 31ธันวาคม 2564 เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพของประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้ว่าราคา LPG ตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงปลายปีนี้ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพลังงานติดตามสถานการณ์ราคา LPG อย่างใกล้ชิด และนำเสนอแนวทางการทบทวนราคา LPG ต่อ กบง. ต่อไป
นายสุพัฒนพงษ์ ได้สั่งให้ สำนักงานกองทุนน้ำมัน เชื้อเพลิง พิจารณาถึงที่มาของเงินที่ต้องอุดหนุนเพิ่มเติม รวมทั้งเตรียมพร้อมไว้กรณีที่ราคาน้ำมันกลุ่มดีเซลอาจพุ่งขึ้นในช่วงไตรมาส 4 /64 ถึงไตรมาส 1/65 ช่วงหน้าหนาว ที่อาจสูงกว่า 30 บาท/ลิตร จำเป็นต้องใช้เงินอุดหนุนจากกองทุนฯ โดยต้องกู้เงินมาดูแลหรือไม่ ในวงเงินเท่าใด จะเป็นภาระต่อหนี้สาธารณะมากน้อยเพียงใด โดยที่มาของเงินอุดหนุน ควรมาจากแหล่งใด มาจากเงินกองทุนน้ำมันฯ ซึ่งต้องขยายเพดานวงเงินอุดหนุนจากขณะนี้ กำหนดที่ 1.8 หมื่นล้านบาทไปมากน้อยเพียงใด หรือมาจากเงินกู้ของรัฐบาลตาม พ.ร.ก.กู้เงินรวม 1.5 ล้านล้านบาทได้หรือไม่ โดยภาพรวมจะนำเข้าสู่ที่ประชุม คณะกรรมการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในวันที่ 28 ก.ย.นี้
สาเหตุที่ มอบให้กองทุนน้ำมันฯ ไปดูภาพรวมการกู้เงิน เพราะล่าสุดตัวเลขอุดหนุนราคาแอลพีจีตั้งแต่ โควิด-19 เริ่มระบาดต้นปี 63 จนถึงวันที่ 5 ก.ย.64 อุดหนุนไปแล้วที่ประมาณ 16,504 ล้านบาท บัญชีน้ำมันมีวงเงิน 29,431 ล้านบาท ส่งผลเงินกองทุนน้ำมันมีฐานะสุทธิ 12,927 ล้านบาท โดยประเมินว่า ไตรมาส4 /64 ราคาแอลพีจีตลาดโลกจะอยู่ที่ราว 673 เหรียญสหรัฐ/ตัน คาดว่ากองทุนฯจะมีเงินไหลออก ราว 13,60-1,400 ล้านบาทเดือน ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเร็วเกินคาดขณะนี้อยู่ประมาณ 70 เหรียญต่อบาร์เรล จึงทำให้ ฐานะกองทุนฯมีความสุ่มเสี่ยงหาก กองทุนฯต้องดูแลทั้งราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซหุงต้ม
ที่ประชุม กบง.ยังพิจารณามติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) 4 .ส.ค.64ที่เห็นชอบกรอบแผนพลังงานชาติ ที่มอบหมายให้ กบง. ทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev. 1) ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2573 ซึ่งจะทำให้เกิดการประกาศรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในปลายปี 64 หรือต้นปี 65 ส่วนจะเป็นโรงไฟฟ้า ขยะ หรือ โรงไฟฟ้าชุมชน เพิ่มขึ้นก็จะมีการพิจารณาความเหมาะสมต่อไป
โดยที่ประชุม กบง. ได้พิจารณาหลักการเพื่อวัตถุประสงค์ด้านความมั่นคงทางพลังงานและส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันของประเทศให้สอดรับกับประชาคมโลกที่มุ่งเน้นพลังงานไฟฟ้าสะอาด ลดการปล่อยคาร์บอนและรองรับการก้าวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Decarbonization) ประกอบด้วย
- ทบทวนปรับพิ่ม/ลดกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่รายปีของโรงไฟฟ้าประเภทฟอสซิล (Coal/Natural Gas) โรงไฟฟ้าจาก พลังงานทดแทน หรือ RE (รายเชื้อเพลิง) เช่น ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ แสงอาทิตย์ ลม ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม เป็นต้น รวมถึงการรับซื้อไฟฟ้าโครงการพลังน้ำจากประเทศเพื่อนบ้าน
- ทบทวนโครงการรับซื้อไฟฟ้า RE ที่มีการดำเนินการล้าช้ากว่าแผนฯ เพื่อปรับกำหนด SCOD ใหม่ เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก โรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โรงไฟฟ้าขยะชุมชน เป็นต้น
- รวมทั้งพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก RE ที่มีศักยภาพเหมาะสมร่วมกับเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้า เช่น Solar + ESS เป็นต้น
ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกันดำเนินการทบทวนปรับปรุงแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ภายใต้แผน PDP2018 rev.1 ในช่วงปีพ.ศ. 2564 – 2573 ตามมติ กพช. ให้สอดคล้องกับศักยภาพของพลังงานหมุนเวียน โดยมอบหมายให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ให้การสนับสนุนข้อมูลศักยภาพสายส่ง รวมถึงพิจารณาจัดทำแผนปรับปรุงระบบสายส่ง และจำหน่ายไฟฟ้า ให้สอดคล้องกับการทบทวนแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดที่จัดทำขึ้น และนำกลับมาเสนอ กบง. เพื่อพิจารณาต่อไป .-สำนักข่าวไทย