กรุงเทพฯ 20 ก.ย.-หอการค้าไทย จับมือ ซีพี ออลล์ และปัญญาภิวัฒน์ Kick Off โครงการ Business Accelerator เตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ SMEs ขยายสู่ช่องทาง Modern Trade
นายพลิษศร์ ภิรมย์ภักดี รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และประธานคณะกรรมการเพิ่มความเข้มแข็งให้สมาชิก เปิดเผยว่า โครงการ Business Accelerator เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างหอการค้าไทย บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) และ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) โดยในโครงการจะมีผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทในกลุ่มธุรกิจ Modern Trade ต่าง ๆ มาให้คำแนะนำ ตลอดจนส่งมอบองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการวางแผนและการดำเนินธุรกิจ ตลอดระยะเวลา 4 เดือน และเมื่อผู้ประกอบการเตรียมตัวเองจนพร้อมอย่างเต็มที่ ก็จะได้รับโอกาสในการเสนอสินค้ากับ Merchandise ของ Modern Trade ต่าง ๆ ถือเป็นโครงการที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับสมาชิกผู้ประกอบการ ตลอดจนสร้างโอกาสในการขยายตลาดที่กว้างมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การมุ่งสู่ตลาด Modern Trade เป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการ SMEs เพราะจะเป็นการขยายตลาดให้กว้างมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์โควิดที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในขณะนี้ ผู้ประกอบการ SMEs จึงจำเป็นต้องแสวงหาทางเลือกอื่น เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่า การจะเข้าสู่ตลาด Modern Trade ได้นั้น จะต้องพบกับเรื่องอะไรหรือต้องเตรียมรับกับเรื่องอะไรบ้าง หากขาดความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้ ก็อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในช่องทางดังกล่าวได้ โครงการนี้จะเป็นการเปิดมุมมองในทุกมิติให้กับผู้ประกอบการได้เข้าใจได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จํากัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น และเซเว่น เดลิเวอรี่ กล่าวว่า จากที่ได้ริเริ่มโครงการกันไว้ในเฟสแรก เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ทางซีพี ออลล์ได้นำระบบคัดกรองผู้ประกอบการผ่านช่องทาง Online มาร่วมดำเนินการภายใต้โครงการ Business Accelerator ของหอการค้าไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการยังสามารถนำเสนอสินค้าต่อ Merchandise ได้ โดยลดการพบปะซึ่งกันและกัน ตามนโยบายของรัฐบาลในช่วงของการแพร่ระบาดของ COVID-19 กิจกรรมนี้ มีผู้สนใจส่งสินค้ามาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อทีมงานได้วิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกแล้ว พบว่า ผู้ประกอบการหลายรายยังขาดความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนขาดความพร้อมที่จะนำสินค้ามาขายในตลาดที่มีระดับสูงขึ้น ดังนั้น การดำเนินการในครั้งนี้ เราจึงยกระดับโครงการโดยการเชิญสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างองค์ความรู้ และเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการในทุก ๆ มิติ ที่มีความจำเป็นต่อการขยายตลาดสู่ Modern Trade
ดร.สมโรตม์ โกมลวนิช รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีพันธกิจหลักในด้านการศึกษาและวิจัยทางด้านธุรกิจค้าปลีก เพื่อสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพในเชิงวิชาการและสามารถปฏิบัติงานได้จริงในตลาดแรงงานธุรกิจค้าปลีก การเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการนี้ จะเป็นการนำความรู้ความสามารถของคณาอาจารย์มาช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง สร้างมิติแห่งการพัฒนาร่วมกันทำให้เข้าใจความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกอบการรายย่อยของไทยมากยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดการพัฒนาบัณฑิตในอนาคตต่อไป.-สำนักข่าวไทย