กรุงเทพฯ 10 ก.ย. – กยท. และสหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด ลงนาม MOU ผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติเพื่อลดการเกิดอาการรองช้ำ มุ่งต่อยอดสร้างรายได้แก่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท. มีนโยบายสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมและการสร้างนวัตกรรมยางที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพารา และมุ่งขยายผลการใช้ยางพาราในเชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางธรรมชาติในประเทศแล้ว ในอนาคตยังสามารถพัฒนาไปสู่การขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง นับเป็นการส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์และการลงทุนอุตสาหกรรมยางของประเทศ
การลงนาม MOU ครั้งนี้ เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ กยท. ได้นำผลงานวิจัย การผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติที่สำเร็จ และพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต สู่สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีศักยภาพและมีความพร้อมทั้งด้านอุปกรณ์การผลิต และบุคลากร ให้สามารถนำเทคโนโลยีที่ได้รับผลิตเป็นแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติและจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไป ซึ่งทาง สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด เป็นหนึ่งในสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางที่มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ และพร้อมในการนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติเพื่อลดการเกิดอาการรองช้ำได้ โดย กยท. ได้ถ่ายทอดผลการวิจัย ตั้งแต่การผลิตแม่พิมพ์ปูนปลาสเตอร์สำหรับการขึ้นรูป กระบวนการผลิตน้ำยางคอมพาวนด์ และเทคนิคการตีฟองเพื่อการผลิตแผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติ จนสถาบันเกษตรกรสามารถนำไปปรับใช้กับกระบวนการผลิตของตนเองได้ และผลิตภัณฑ์ที่ได้ต้องผ่านการทดสอบคุณภาพต่างๆ ให้ได้ตามมาตรฐานสำหรับการใช้งานจริง นอกจากนี้แผ่นรองเท้าจากยางธรรมชาติที่ได้ จะใช้ยางธรรมชาติเนื้อยางแห้ง ประมาณ 40 กิโลกรัม ในการผลิตแผ่นรองเท้ายางพาราธรรมชาติได้ 100 คู่
สหกรณ์กองทุนสวนยางบ้านเนินสว่าง จำกัด นับเป็นอีกสถาบันเกษตรกรที่มีความเข็มแข็งในการดำเนินธุรกิจ สามารถนำศักยภาพของสถาบันฯ มาพัฒนาการแปรรูปยาง สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิตยางของสถาบัน สร้างรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางพาราที่มีความหลากหลายอย่างยั่งยืนในอนาคต และ กยท. เชื่อมั่นว่าผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีอื่นๆ จาก กยท.จะสามารถขยายผลสู่สถาบันเกษตรกร ช่วยสร้างรายได้และยกระดับสถาบันเกษตรกร ให้สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางให้ได้ตามมาตรฐาน และมีความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะงานวิจัยทุกๆ ชิ้นจะเกิดประโยชน์สูงสุด ต่อเมื่อได้มีการขยายผล หรือ นำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม.- สำนักข่าวไทย