กรุงเทพฯ 11 มี.ค. – การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) พัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นรูปธรรม ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการ กนอ. ประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การวิจัยพัฒนา การบริการวิชาการ และความเป็นไปได้ของการดำเนินธุรกิจยางพาราและธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่มีศักยภาพในนิคมอุตสาหกรรม ระหว่างการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ศักยภาพด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ร่วมกับความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของ กยท. เพื่อสนับสนุนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) และขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการจัดการสิ่งแวดล้อม
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ. เล็งเห็นว่า กยท.เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมที่จะร่วมกันสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศ ทั้งนี้ แนวโน้มของอุตสาหกรรมยางพาราโดยรวมปี 2567-2568 คาดว่ายังมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องทั้งด้านผลผลิตและความต้องการใช้ จากภาวะฟื้นตัวของอุตสาหกรรมทั้งตลาดในและต่างประเทศ อาทิ กลุ่มยานยนต์ ถุงมือยาง อุปกรณ์การแพทย์ โครงสร้างพื้นฐานที่มีแนวโน้มในการใช้ยางในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น รวมถึงมาตรการของภาครัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายาง ดังนั้น กนอ. และ กยท. จะร่วมกันพัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้เกี่ยวกับยางพาราในภาคอุตสาหกรรม เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยางพาราของประเทศอย่างยั่งยืน
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ ทั้ง 2 หน่วยงาน มีความตั้งใจในการผสานศักยภาพองค์ความรู้เฉพาะทาง ทั้งความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยางพาราของ กยท. และด้านการบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ. ซึ่ง กยท. พร้อมร่วมสนับสนุน ส่งเสริมการศึกษา วิจัย พัฒนา การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ยาง โดยมุ่งเน้นการแปรรูปจากผลผลิตยางที่มาจากเกษตรกรชาวสวนยาง และสนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในพื้นที่ของ กยท. และ กนอ. รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจยางพาราครบวงจรทั้งกระบวนการ ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมยางจะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนา เพิ่มรายได้ และสร้างความยั่งยืนทางอาชีพให้กับชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกร และเพื่อประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
สำหรับบันทึกความเข้าใจระหว่าง กนอ. และ กยท.ครั้งนี้ มีกรอบและแนวทางการดำเนินงาน คือ 1. ส่งเสริม สนับสนุน การศึกษา วิจัย พัฒนา หรือการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา 2.สนับสนุนการลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ 3. สนับสนุนการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมด้านยางพารา และอุตสาหกรรมยางพารา ผ่านการส่งเสริมการลงทุน โดย MOU ฉบับนี้มีผลบังคับใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนาม. -517-สำนักข่าวไทย