ประจวบคีรีขันธ์ 17 พ.ย.-ช่วงนี้จะพาไปดูตัวอย่างการแก้ไขปัญหาข้อพิพาทระหว่างคนกับช้างป่าที่อุทยานแห่งชาติกุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริว่า ช้างป่าควรอยู่ในป่า ซึ่งก่อให้เกิดการร่วมฟื้นฟูสภาพป่า และปรับเปลี่ยนทัศนคติของคนในชุมชนโดยรอบต่อช้างป่า จนเกิดเป็นความผูกพัน พึ่งพาอาศัยกันและกัน
กุยบุรีโมเดล คือ ต้นแบบแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าที่ดีที่สุดของเมืองไทย จากสายพระเนตรอันยาวไกลของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ตระหนักถึงความสำคัญของสัตว์คู่บ้านคู่เมือง อันเกิดจากการบุกรุกทำไร่สับปะรด ในเขตอุทยานแห่งชาติกุยบุรี ทำให้ช้างป่าบางส่วนออกมากินพืชผลการเกษตรของชาวบ้าน กลายเป็นปัญหาความขัดแย้งลุกลามใหญ่โต ทำให้ช้างป่าหลายตัวถูกฆ่า กระทั่งมีการขอคืนพื้นที่อุทยานเกือบ 20,000 ไร่ และฟื้นฟูให้ป่ากลับมาสมบูรณ์ดังเดิม
“ช้างควรอยู่ในป่า เพียงแต่ต้องทำให้ป่านั้นมีอาหารช้างเพียงพอ การปฏิบัติคือ ให้ไปสร้างอาหารในป่า เป็นแปลงเล็กๆ และกระจาย กรณีช้างออกมาที่ชายป่าต้องให้ความปลอดภัยกับช้าง” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช วันที่ 4 กรกฎาคม 2542 คือเครื่องยึดเหนี่ยวและหลวมรวมดวงใจทุกภาคส่วนให้เป็นหนึ่งเดียว ก่อเกิดเป็นกลุ่มเพาเวอร์ออฟกุยบุรี เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพป่า สร้างแหล่งอาหาร แหล่งน้ำให้กับช้างป่าและสัตว์ป่านานาชนิด เช่น การทำโป่งเทียม กระทะน้ำ รวมถึงกำจัดวัชพืช ผลที่ได้นอกจากแก้ไขปัญหาความขัดแย้งคนกับช้างป่าอย่างยั่งยืนแล้ว ยังเกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กุยบุรี ซาฟารีเมืองไทย ที่สร้างรายได้แก่ชุมชนด้วย
เมื่อชุมชนโดยรอบอุทยานแห่งชาติกุยบุรีร่วมล้อมรั้วด้วยหัวใจ ปัญหาความขัดแย้งของคนกับช้างป่าจึงหมดไป กลายเป็นความรัก ความเข้าใจ และพึ่งพาอาศัยกันและกัน ทำให้ปัจจุบันช้างป่ากุยบุรีมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเป็น 237 ตัว จากเมื่อปี 2540 มี 80 ตัว
มีการคาดการณ์ว่าอีก 10 ปีข้างหน้า ช้างป่ากุยบุรีจะเพิ่มจำนวนเป็น 600 ตัว จึงมีแผนการเชื่อมผืนป่ากุยบุรีและป่าแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ให้เป็นผืนเดียวกัน เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของช้างป่า โดยชุมชนและทุกภาคส่วนพร้อมมุ่งมั่นสืบสานพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อให้ช้างป่าได้อยู่กับป่า ตลอดจนให้คนกับช้าง สามารถอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุข.-สำนักข่าวไทย