กรุงเทพฯ 24 ส.ค. – นายกสมาคมผู้ส่งออกข่าวไทยเผยข้าวไทยเริ่มมีโอกาสแข่งขันกับหลายประเทศจากราคาข้าวไทยไม่สูงมาก ค่าเงินบาทอ่อนค่า ประเทศคู่ค้าเจอโควิดทำให้ข้าวไทยส่งออกมากขึ้นช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ย้ำรัฐต้องเร่งหาทางลดต้นทุนให้เกษตรกรชาวนาทุกทางเพื่อ พร้อมเร่งส่งออกข้าวไทยทุกช่องทางจะทำให้การชดเชยประกันรายได้จะน้อยลง ชี้ปีนี้ยอดได้แน่ 6 ล้านตัน
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ประเมินภาพรวมทิศทางข้าวไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้เริ่มกลับมาดีขึ้น หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหาภัยแล้งทำให้ปริมาณข้าวเปลือกน้อยลง ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกภายในประเทศสูงขึ้น ประกอบกับความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนโดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่ามาก ทำให้ราคาเฉลี่ยข้าวไทยสูงกว่าประเทศคู่ค้าอย่างเช่น อินเดียและเวียดนามค่อนข้างมาก จึงทำให้หลายประเทศหันไปซื้อข้าวจากประเทศเหล่านี้มากกว่าไทย รวมทั้งในปี 63 จนถึงขณะนี้ทั้งไทยและประเทศคู่แข่งเจอปัญหาการระบาดโควิดจึงทำให้การส่งออกข้าวไทยไม่ค่อยดีนัก
อย่างไรก็ตาม แต่หลังจากไทยฝนฟ้าดีมาตั้งแต่ต้นปี 64 ปริมาณเพราะปลูกข้าวเริ่มมากขึ้นและค่าเงินบาทอ่อนค่าลงทำให้ราคาข้าวขาวไทยไม่สูงมากแข่งขันกับประเทศต่างๆได้ หลายประเทศหันกลับมาซื้อข้าวไทยกันมากขึ้นส่งผลให้ยอดการส่งออกข้าวไทยเริ่มกลับมาเพิ่มขึ้นจากต้นปีส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 300,000-400,000 ตันเพิ่มเป็นไม่ต่ำกว่า 600,000 ตันในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาและหากเวลาที่เหลือของปีนี้ส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยต่อเดือน 500,000-600,000 ตันได้ คาดว่ายอดการส่งออกข้าวไทยเฉลี่ยทั้งปีน่าจะได้ถึง 6 ล้านต้นจากขณะนี้ยอดส่งออกข้าวไทยได้เพียงกว่า 3.2 ล้านตัน
ทั้งนี้ แม้ว่าข้าวขาวไทยจะเริ่มส่งออกได้ดีขึ้น แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งเป็นข้าวคุณภาพสูงยังประสบปัญหามาก เนื่องจากกลุ่มบริโภคข้าวหอมมะลิไทยจะอยู่ที่ตลาดหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งประเทศเหล่านี้ยังประสบปัญหาการระบาดโควิดและไทยยังเจอปัญหาการขาดแคลนตู้ขนส่งสินค้าและการถูกเรียกเก็บค่าทำเนียมขนส่งสินค้าเพิ่มเติมอีกตันละมากกว่า 800 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันขณะที่ราคาข้าวหอมไทยมีราคาเพียง 700 ดอลลาร์สหรัฐต่อตันถือว่าไม่คุ้มต่อส่งออกข้าวหอมไทยไปทำตลาดขณะนี้ ทำให้ข้าวหอมไทยต้องเร่งหาตลาดอื่นๆทดแทน โดยตอนนี้ภาครัฐและเอกชนกำลังเร่งหาตลาดข้าวหอมไทยเป็นการเร่งด่วน ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกข้าวหอมมะลิได้กว่า 1.2 ล้านตัน แต่ในช่วงที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้น่าจะส่งออกกว่า 400,000 ตันเท่านั้น
นอกจากนี้ สิ่งที่จะทำให้เกษตรกรชาวนามีรายได้จากการเพาะปลูกข้าวเปลือกอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และเกษตรกรจะต้องวางแนวทางไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ภาครัฐจะต้องจัดระบบที่เกี่ยวกับชลประทานแบบต่อเนื่องพร้อมจัดระบบพันธุ์พืชชนิดข้าวอย่างเพียงพอเพื่อลดต้นทุนให้กับชาวนา ขณะที่ด้านเกษตรกรจะต้องเพาะปลูกพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการ และอื่นๆ หากจัดระบบเหล่านี้ได้จะต้องทำข้าวไทยมีราคาที่เหมาะสมเพื่อให้ภาคเอกชนผู้ส่งออกไปทำตลาดข้าวในตลาดต่างประเทศได้ ซึ่งหากทุกฝ่ายจัดระบบได้อย่างจริงจังประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องมีระบบการประกันรายได้หรือการรับจำนำข้าว ซึ่งตัวเลขการประกันรายได้ในครั้งที่ 3 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินถึง 89,000 ล้านบาท หากข้าวเปลือกไทยอยู่ในระดับที่สูงเหมาะสมได้พร้อมเร่งส่งออกข้าวไทยไปตลาดต่างๆได้ก็เชื่อว่าการประกันรายได้เกษตรกรอาจไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ก็ได้.-สำนักข่าวไทย