กรุงเทพฯ 23 ส.ค.-ส.อ.ท. ขอรัฐสนับสนุน ATK –FQ –FAI -CQ-CI และวัคซีน ชี้หากไม่สนับสนุนโรงงานพังแน่
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปัจ06บันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติ โดยในภาคอุตสาหกรรมเกิดการติดเชื้อในโรงงานเป็นจำนวนมาก สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้จัดทำ “มาตรการควบคุมโควิดในภาคอุตสาหกรรม” เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและอาการรุนแรง พร้อมรักษากำลังการผลิตให้มากที่สุด ซึ่งโรงงานที่ดำเนินการอย่างถูกต้อง จะไม่ถูกปิด หากยังสามารถดำเนินการต่อได้โดยไม่แพร่กระจายเชื้อสู่ภายนอก ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ติดโควิดไม่ต้องปิดโรงงาน” ดังนี้
1) มาตรการ Bubble and Seal สำหรับภาคอุตสาหกรรมต้องมีความชัดเจน สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงและเป็นไปในแนวทางเดียวกันทุกพื้นที่ โดยให้สุ่มตรวจหาผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK สม่ำเสมอ 10% ของจำนวนพนักงาน ทุก 14 วัน โดยรัฐบาลสนับสนุนค่าใช้จ่าย และให้พนักงานผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำสามารถกลับเข้ามาทำงานใน Bubble ในโรงงานตามปกติ
2) สถานประกอบการที่มีพนักงาน 300 คนขึ้นไป เสนอให้กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนงบประมาณจัดตั้ง Factory Quarantine (FQ) และ Factory Accommodation Isolation (FAI) โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงาน และเสนอให้กระทรวงแรงงานจัดตั้งโรงพยาบาลแม่ข่ายในแต่ละพื้นที่ประกันสังคม เพื่อให้บริการโรงงานในพื้นที่ ณ จุดเดียว
3) สำหรับสถานประกอบการที่มีพนักงานต่ำกว่า 300 คน ขอให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมจัดตั้ง Community Quarantine (CQ), Community Isolation (CI) (ศูนย์พักคอยและแยกกักตัว) ให้เพียงพอกับแรงงาน โดยให้มีจำนวนเตียงไม่น้อยกว่า 5% ของจำนวนพนักงานในพื้นที่
4) จัดสรรวัคซีนเพื่อลดอัตราการเสียชีวิต โดยจัดสรรตามลำดับความสำคัญทางสาธารณสุข การป้องกันโรค และเศรษฐกิจใน 3 กลุ่มคือ กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่อายุ 40-59 ปี กลุ่มพนักงานในสถานประกอบการที่มีติดเชื้อมากกว่า 50% จนต้องปิดกิจการ และกลุ่มพนักงานในอุตสาหกรรมสำคัญยิ่งยวด
“รัฐได้แต่ออกคำสั่ง แต่ไม่มีงบประมาณให้ ต้องยอมรับว่า วันนี้ภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กลำบากมาก เพราะต้องตรวจ ATK อย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง โดยค่า ATK ที่ใช้อยู่ราคาประมาณ 200 บาท รวมถึงการจัดทำโรงพยาบาลสนาม – ศูนย์พักคอยแยกกักตัว ซึ่งราคาเฉลี่ย 10,000 บาทต่อเตียง ค่าใช้จ่ายส่วนนี้โรงงานต้องรับผิดชอบเอง บางโรงงานสู้ไม่ไหวเพราะต้องใช้งบประมาณสูง หากรัฐยังไม่เข้ามาช่วย อาจจะมีหลายโรงงานต้องหยุดชะงักและอาจจะต้องปิดตัวลงไป ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมจึงต้องจัดทำมาตรการป้องกันการระบาดโควิด-19 ไปเสนอรัฐบ่ายวันนี้ เพื่อขอให้รัฐช่วยเหลือโดยเฉพาะค่า ATK และค่าเตียง โดยข้อเสนอทั้งหมด 4 ข้อล้วนเป็นไปตามคำสั่งของรัฐบาล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยกล่าว. – สำนักข่าวไทย