รัฐสภา 21 ส.ค.-สภาฯ ผ่านงบฯ สาธารณสุข วาระ 2 ฝ่ายค้านชี้ จัดสรรไม่เหมาะสมกับสถานการณ์โควิด-19 เสนอปรับลดบางรายการที่ไม่จำเป็น จี้ดูแล อสม. บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย จัดหาเครื่องมือให้เพียงพอ พร้อมถามหางบฯ ซื้อวัคซีนและการจัดสรรไฟเซอร์
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท วาระ2 และ 3 ในวันที่ 4 พิจารณาต่อในมาตรา 25 งบประมาณรายจ่ายของกระทรวงสาธารสุข จำนวน 37,543 ล้านบาท การอภิปรายของ ส.ส. ส่วนใหญ่เน้นการปรับลดงบประมาณ เพราะรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จต่อการแก้ปัญหาโควิด-19 ล่าสุดพบว่ามียอดผู้ติดเชื้อหลักล้านคน แม้จะยอดการฉีดวัคซีนให้คนไทยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนั้นการจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้ อสม. ยังพบว่ามีปัญหาและไม่ทั่วถึง
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ในฐานะรองประธาน กมธ.งบประมาณฯ อภิปรายสงวนความเห็นว่า ในมาตรา 25 ตนสงวนความเห็นขอปรับลด 0.2 % เป็นเงิน 75 ล้านบาท เรื่องการซื้อรถประจำตำแหน่งและการฝึกอบรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ซึ่งสิ่งที่มีความจำเป็นคือการจัดหาวัคซีนป้องกัน เมื่อไปดูแล้วพบว่าไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กลับได้รับงบประมาณปีนี้แค่ 22 ล้าน น้อยกว่าปีที่แล้วที่ได้ 23 ล้านบาท ทั้งที่ตอนนี้ผู้ติดเชื้อล้านกว่าราย เสียชีวิตสะสมเกือบหมื่น และยังไม่มีที่ท่าจะลดลง และรัฐบาลไม่เคยคำนึงว่ามีคุณค่าหรือไม่ และไม่เคยบอกว่าเราจะป้องกันคนไม่ให้ตายได้อย่างไร ส่วนที่บอกว่าจะหาวัคซีนให้ได้ 105 ล้านโดส วันนี้ยังขาด 80 กว่าล้านโดส รวมถึงปัญหาเรื่องวัคซีนที่ทำไมกระทรวงสาธารณสุขไม่หาวัคซีนที่ดี ถือเป็นความล้มเหลว
นายขจิตร ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายขอตัดงบกระทรวงสาธารณสุข 22 % เป็นเงิน 8,259 ล้านบาท เพราะไม่เห็นด้วยกับหลักการในการจัดงบประมาณแบบนี้ ที่ยังจะต้องไปสร้างสิ่งก่อสร้างอาคารมากมาย และซื้ออุปกรณ์ที่ไม่สอดคล้องกับการต่อสู้โรคระบาด ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังค้างจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยง อสม. จึงขอให้เร่งแก้ไขและช่วยดูแล อสม.ด้วย รวมถึงนำมาดูและผู้ที่พักคอยรักษา
ด้านนายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การแก้ปัญหโควิด-19 ของรัฐบาลคล้ายกิ้งกือตกท่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผอ.ศบค. กับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พูดคนละภาษา และมองว่ารัฐบาลกำลังหากินอยู่กับความตายของประชาชน โดยได้สั่งซื้อซิโนแวคเพิ่มเติม ทั้งที่ไม่มีใครต้องการฉีด เช่นพื้นที่จ.เชียงราย มีประชากร 1.3ล้านคน ต้องฉีดให้ได้ 8 แสนคน พบว่ามีผู้ลงทะเบียน 5 แสนคน และฉีดแล้ว 2 แสนคน ทั้งนี้ไม่มีใครต้องการฉีดวัคซีนซิโนแวค เชื่อว่าหากสั่งซื้ออีกจะไม่มีใครต้องการ ส่วนกรณีวัคซีนไฟเซอร์ที่นำเข้า เชื่อว่ามีความไม่ชอบมาพากล อย่างไรก็ตามสถาบันวัคซีนแห่งชาติเคยชี้แจงในกรรมาธิการฯ ระบุว่ามีงบวิจัยเพียง 20 ล้านบาทเท่านั้น
ส่วนนายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า อยากให้นายกฯ ออกคำสั่งปรับชั้นยศให้บุคลากรทางการแพทย์ แพทย์ และพยาบาลที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ เพิ่มชั้นยศ และให้เงินราชการทวีคูณ รวมถึงบรรจุลูกจ้างเป็นข้าราชการ ขณะที่รพ.ส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลเขาทำงานกันเหนื่อยมาก แต่ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง ขอให้เร่งหาวิธีการเพิ่มขวัญกำลังใจ อีกทั้ง อสม.เรียกร้องขอช่วยซื้อเครื่องวัดความดันยี่ห้อดีๆ เครื่องตรวจเบาหวาน เครื่องตรวจออกซิเจน เพราะเป็นบุคลากรด่านหน้าและทำงานเหน็ดเหนื่อยมาก แต่ไม่มีเครื่องมือที่สมบูรณ์ในการดูแลประชาชนในหมู่บ้าน
ทั้งนี้ ระหว่างการอภิปราย นายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายพาดพิงถึงการแก้ปัญหาโควิด-19 โดยเฉพาะการกระจายวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ ที่ไม่เป็นธรรม โดยเปรียบเทียบระหว่างจ.อุบลราชธานี ที่ได้รับวัคซีน จำนวน 3แสนคน จากประชากรทั้งสิ้น 1.8 ล้านคน กับจังหวัดบุรีรัมย์ที่มีประชากร 1.5 ล้านคน แต่ได้รับวัคซีน 6 แสนคน ทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่ระบาดหรือเมืองท่องเที่ยว พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า เป็นเพราะใกล้ชิดรัฐมนตรี
ทำให้ นายสนอง เทพอักษรณรงค์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ประท้วงและชี้แจงต่อประเด็นดังกล่าวว่าเป็นเพราะการบริหารจัดการที่ดี จากนั้นนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ประท้วงต่อว่า เมื่อบุคคลไม่เสียหาย ควรให้กรรมาธิการชี้แจง ไม่ใช่หน้าที่ ส.ส.ที่จะชี้แจง ขอให้ประธานควบคุมการประชุมด้วย ขณะที่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาฯ คนที่สอง ชี้แจงว่า เพราะนายสนอง เป็นส.ส.บุรีรัมย์ เป็นเจ้าของพื้นที่จึงมีสิทธิ์ชี้แจงพาดพิงได้
นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย เสนอปรับลดงบฯลง 7 เปอร์เซ็นต์ และมองว่ากระทรวงสาธารณสุข ถูกยึดอำนาจไปบริหารโดย ศบค. ที่บริหารบนซากศพ บนความตายของประชาชน พร้อมตั้งคำถามว่า เงินที่จะฉีดวัคซีนหายไปไหน ทำไมประชาชนฉีดวัคซีนได้เพียง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศ อยากให้ ศบค.ชี้แจงและรายงานการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแต่ละจังหวัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ทุกวันนี้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขปิดปาก ปิดหู ปิดตา จึงอยากให้บุคลากรทางการแพทย์ออกมาเรียกร้องความยุติธรรม อย่าให้ใครมาเรียกรับผลประโยชน์ได้ และตนต้องการคำตอบว่าวัคซีนที่จะฉีดให้ประชาชนอยู่ที่ไหน ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่สหรัฐฯ บริจาคให้ 1.5 ล้านโดสนั้น อยู่ที่ไหน เพราะคนด่านหน้าบุคลากรทางการแพทย์มีความต้องการไฟเซอร์ ส.ส.เป็นด่านหน้าหรือไม่ ต้องเสีย
“อย่าให้ผมได้ข่าวนะว่า พรุ่งนี้ ส.ส.บางส่วนจะมีการปักเข็มที่แขน ต้องเสียสละให้ประชาชนที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนอีกกว่า 40 ล้าน ขอฝากคุณหมอทั้งหลายต้องออกมาสู้เพื่อระชาชน ในแนวทางที่ถูกต้อง เพื่อชีวิตของพี่น้องประชาชน สถานการณ์ขณะนี้ นายกรัฐมนตรีควรออกไป และให้คนที่เป็นหมอมาเป็นนายกรัฐมนตรีแทน” นายพิเชษฐ์ กล่าว
ภายหลังใช้เวลาอภิปราย งบฯ ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข 4 ชั่วโมง ที่สุดแล้วที่ประชุมมีมติผ่านมาตรา 25 งบฯกระทรวงสาธารณสุข ด้วยคะแนนเสียง 242 เสียง ไม่เห็นด้วย 124 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 2 เสียง.-สำนักข่าวไทย