รัฐสภา 17 ต.ค.-“ชัยธวัช” หวัง สภาฯ รับรายงานนิรโทษกรรม เป็นช่องทางให้พรรคการเมืองตกผลึก เร่งเสนอกฎหมายประกบกับที่มีอยู่แล้ว 4 ฉบับ
นายชัยธวัช ตุลาธน ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม กล่าวว่า วันนี้จะมีรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม เข้าสู่ที่ประชุมสภา ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี ที่สมาชิกไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ก็จะได้รับฟัง ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการ ซึ่งเป็นรายงานที่รวบรวม ทุกมุมมองหลากหลายความคิดเห็น มาไว้ด้วยกันโดยไม่ได้ตัดให้เหลือแนวทางใดแนวทางหนึ่ง
ดังนั้น ถือว่าเป็นข้อเสนอที่มาจากทุกฝ่ายจริงๆไม่ใช่มาจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือความคิดใด ความคิดหนึ่ง และคาดหวังว่า สส.ทั้งสองฝั่ง จะได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกที่มีความหลากหลาย และจะได้รับฟังความคิดเห็นของสังคมด้วย และสามารถที่จะตกผลึกได้ว่ารัฐบาลเอง หรือสส.ฝั่งรัฐบาลและสส.ฝ่ายค้านแต่ละพรรคจะได้มีการนำเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของตนเอง หวังว่าวันนี้(17 ต.ค.)จะได้นำเสนอจริงๆ และหวังว่าจะไม่มีอะไรมาแทรก ซึ่งเมื่อวานนี้(16 ต.ค.) ได้รับการยืนยันจากวิปทั้ง 2 ฝั่งว่า จะมีการเสนอรายงานฉบับนี้เข้าที่ประชุมแน่นอน แต่มีข่าว เหมือนกันว่าอาจจะมีการเสนอญัตติ ดิไอคอนเข้ามาในที่ประชุม จึงเห็นว่า ญัตติ ดิไอคอนสามารถเสนอหลังจากที่ประชุมพิจารณารายงานนิรโทษกรรมแล้วได้
นายชัยธวัช กล่าวว่า ส่วนที่มีการเลื่อนหลายครั้งที่ผ่านมา นายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะประธานกมธ.นิรโทษกรรม ได้ระบุว่า เลื่อนเพราะต้องการให้พรรคการเมืองแต่ละพรรค พูดคุยจนตกผลึกก่อน นายชัยธวัช กล่าวว่า ในฝั่งพรรคฝ่ายค้านไม่ได้มีการพูดคุยกับฝั่งรัฐบาล แต่ก็ไม่ทราบว่าฝั่งรัฐบาลได้มีการพูดคุยกันหรือไม่ แต่การตกผลึกเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ควรจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฟังรายงานฉบับนี้แล้ว แต่ในทางกลับกันหากชะลอหรือเลื่อนการเสนอรายงานออกไปอีก ก็จะทำให้การตกผลึก เรื่องนิรโทษกรรมช้าไปอีก
ส่วนที่มีความกังวล ในเรื่องของการนิรโทษกรรมในคดีมาตรา 112 ในรายงานมีระบุถึง 3 แนวทาง นายชัยธวัช กล่าวว่า รายงานไม่ได้มีบทสรุป ที่เป็นข้อเสนอแนวทางใดแนวทางหนึ่ง และยังมีข้อสังเกตต่อฝ่ายบริหาร ในการที่จะคลี่คลายความขัดแย้งคดีทางการเมืองเฉพาะหน้าระหว่างที่ยังไม่มีพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมออกมาด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะลงมติไม่รับรายงาน รายงานเป็นเพียงข้อเสนอ ทางเลือก เชิงนโยบายมากกว่า ไม่ได้มีผลว่าเมื่อรายงานผ่านไปแล้ว การนิรโทษกรรมจะต้องเป็นแนวทางใดแนวทางหนึ่งเท่านั้น
ส่วนพรรคการเมือง อาจมีการตั้งธงไว้ชัดเจนว่าหากมีการนิรโทษกรรม 112 ก็จะไม่รับรายงานเลย นายชัยธวัช กล่าวว่า รายงานนี้มีข้อเสนอแนวทางที่ไม่นิรโทษกรรม 112 ด้วย แต่ได้มีการประเมินให้เห็นข้อดีข้อเสียในแต่ละทางเลือก แต่ไม่ว่ารายงานนี้สภาจะโหวตเป็นอย่างไร ก็เป็นเรื่องของแต่ละพรรคการเมืองและรัฐบาลอยู่ดีว่าจะเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเข้ามาในสภาหรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับรายงานฉบับนี้เลย รายงานฉบับนี้เป็นเพียงแนวทางเลือกในเชิงนโยบายในการออกกฎหมาย ประเมินทางเลือกต่างๆเท่านั้น สุดท้ายรายงานจะผ่านหรือไม่ก็อยู่ที่สส.อยู่ดี หลังจากการพิจารณารายงานฉบับนี้เสร็จสิ้นแล้ว พรรคการเมืองต่างๆ ที่อยากจะเสนอ ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของตนเอง ก็ควรต้องเร่งทำ เพราะขณะนี้มีร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจ่อเข้าสภาอยู่แล้ว 4 ฉบับ ทั้งฉบับของอดีตพรรคก้าวไกล ฉบับของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคครูไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติ และฉบับของประชาชน ถ้ารัฐบาลไม่เร่งยื่นร่างของตนเองเข้ามาก็จะเสียโอกาส ที่จะได้พิจารณารวมอยู่ด้วยกัน
นายชัยธวัช ยังกล่าวด้วยว่า ร่างในสมัยที่ตนเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ได้มีการแยกคดีมาตรา 112 ออกมา แต่เสนอให้มีการตั้งคณะกรรมการ นิรโทษกรรมขึ้นมาพิจารณาว่าคดีไหนบ้างเข้าข่าย มีการกำหนดไว้เพียงบางฐานความผิดเท่านั้น ว่าจะนิรโทษกรรมอะไรบ้าง ดังนั้นคดีตามมาตรา 112 จะสามารถนิรโทษกรรมได้และไม่ได้มีเงื่อนไข
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาศึกษาแล้ว ในฐานะกรรมการคนหนึ่ง ตนเองเข้าใจถึงความกังวล ของพรรคการเมืองต่างๆ รวมถึงฝ่ายที่ยังไม่เห็นด้วย หรือบางกลุ่มที่เห็นด้วยบ้างในบางคดี ก็เลยนำไปสู่ ทางเลือกที่ 3 ที่อยู่ในรายงานฉบับนี้ โดยให้มีกลไกมาพิจารณาเป็นรายคดี และในเมื่อมีความกังวลว่าถ้ามีการนิรโทษกรรมไปแล้ว โดยเฉพาะคดี 112 จะมีการกระทำเกิดขึ้นซ้ำอีก และอาจจะต้องมีมาตรการในการป้องกันการกระทำผิดซ้ำหรือไม่ และในฐานะกรรมการคนหนึ่งข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ดีและเป็นข้อเสนอที่อยู่ตรงกลาง เพราะเข้าใจทั้งสองฝ่าย ดังนั้นกลไกการพิจารณาแบบมีเงื่อนไขน่าจะเป็นพื้นที่ที่จะสร้างความเข้าใจกันมากยิ่งขึ้นและสามารถยอมรับได้.-315.-สำนักข่าวไทย