กรุงเทพฯ 23 ก.พ. – กรมธนารักษ์ให้เวลาทอท.พิจารณาแนวทางการจ่ายค่าเช่าที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะใช้มาตรฐานการคิดค่าเช่ากับผู้เช่ารายอื่นๆด้วย
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการหารือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT เกี่ยวกับการเปลี่ยนการเก็บค่าเช่าที่ราชพัสดุ ในพื้นที่ส่วนที่ไม่ใช่จากการบิน หรือ Non-AERO สนามบินสุวรรณภูมิ เป็นแบบ การจ่ายค่าเช่าแบบผลตอบแทนเปรียบเทียบกับมูลค่าทรัพย์สิน หรือ ROA ในอัตรา 3% ว่า ขณะนี้ได้ให้เวลา AOT 30 วัน เพื่อกลับไปพิจารณาในส่วนของพื้นที่ที่ไม่ใช่การบินว่ามีจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งยืนยันว่า ในอัตรา 3% ที่จะเรียกเก็บนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อ AOT อย่างแน่นอน เนื่องจากในปัจจุบัน AOT มีผลตอบแทนจากการให้เช่าพื้นที่ 3-5%
ในส่วนของพื้นที่ที่เกี่ยวกับกิจการการบิน หรือ AERO นั้น ยังคงจัดเก็บในรูปแบบการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ หรือ Revenue Sharing ที่อัตรา 5% เช่นเดิม
“ก็ให้เวลา AOT กลับไปพิจารณาไปคุยหารือกับนักลงทุนให้เรียบร้อยแล้วกลับมาสรุปว่าจะรับกับข้อเสนอหรือไม่ ซึ่งหากรับไม่ได้ก็กลับมาเจรจาอีก ตอนนี้ให้เวลาเขากลับไปสำรวจพื้นที่การบิน กับที่เป็นการพาณิชย์ ซึ่งในแต่ละปีกรมฯมีรายได้จากการเก็บค่าเช่าของ AOT โดยสนามบินสุวรรณภูมิ 1,500 ล้านบาท และสนามบินดอนเมือง 500 ล้านบาท ขณะที่ต่างจังหวัดมีอัตราค่อนข้างน้อย เนื่องจากบางสนามบินยังผลการขาดทุน”นายจักรกฤศฏิ์ กล่าว
นายจักรกฤศฏิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการคำนวณค่าเช่าในรูปแบบใหม่นั้น จะเป็นมาตรฐานใช้กับบริษัทอื่นๆที่มีการเช่าพื้นที่ด้วย ซึ่งขณะนี้กรมฯอยู่ระหว่างหารือกับบริษัท บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะใช้การเรียกเก็บตาม ROA เช่นเดียวกัน แต่ในส่วนของอัตรานั้นจะต้องพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากในแต่ละบริษัท การทำธุรกิจไม่เหมือนกัน ซึ่งในส่วนของทั้ง 2 บริษัท ดังกล่าว หากเรียกเก็บตามมูลค่าทรัพย์สินอาจไม่เหมาะสมนัก เนื่องจากผลตอบแทนกำไรที่ได้นั้นจะขึ้นอยู่กับการผลิต เป็นต้น
สำหรับการจัดเก็บรายได้ของพื้นที่ราชพัสดุรูปแบบใหม่นั้น จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1.ที่ดินใหม่ ซึ่งจะจ่ายเป็นค่าธรรมเนียมในการใช้พื้นที่ 2.ค่าเช่า 3.ส่วนแบ่งรายได้ เป็นต้น โดยภายหลังจากการปรับเปลี่ยนอัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากการให้เช่าพื้นที่นั้น คาดว่าจะส่งผลให้ภายในสิ้นปี 2560 กรมฯจะมีรายได้แตะ 10,000 ล้านบาท จากปี 2559 ที่อยู่ที่ 7,000 ล้านบาท
ในส่วนของการจัดเก็บค่าเช่าจากอาคารพาณิชย์นั้น ได้มีการเรียกเก็บในอัตราใหม่เช่นเดียวกัน โดยมีผลตั้งแต่ 2560 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ สำหรับผู้เช่าเดิมนั้จะให้เวลาถึงปี 2561 แต่หากเป็นผู้เช่ารายใหม่นั้นจะคิดอัตราใหม่ทันที
ทั้งนี้ ในวันนี้ กรมฯได้จัดทำเหรียญกษาปณ์ที่ระลึก 100 ปี การสหกรณ์ไทย และเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC เพื่อเป็นที่ระลึกและเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งถือเป็น 2 โอกาสสุดท้ายในสมัยรัชกาลที่ 9 ซึ่งจะเปิดจ่ายแลกรูปแบบละ 500,000 เหรียญ โดยจำจ่ายแลกในวันที่ 1,2,3,6, และ 7 มีนาคม 2560 ตั้งแต่เวลา 8.00-18.00 ที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยกรมฯเปิดใหกับประชาชนรายละ 1 ชุด เท่านั้น