สมุทรปราการ 6 ก.ย. – ทอท.กางแผนวิสาหกิจปี 2566-2570 ขยายขีดความสามารถทุกท่าอากาศยานของ ทอท.รองรับผู้โดยสาร 210 ล้านคน ภายในปี 2575
นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยแผนวิสาหกิจของ ทอท.พ.ศ.2566-2570 ว่า รัฐบาลและกระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเพื่อสร้างโอกาส สร้างอนาคต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน โดยพัฒนาให้ท่าอากาศยานของ ทอท.เป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค ซึ่ง ทอท.มีแผนที่จะขยายขีดความสามารถทุกท่าอากาศยานของ ทอท.ให้รองรับผู้โดยสารให้ได้ 210 ล้านคน ภายในปี 2575 โดยสนามบินสุวรรณภูมิตั้งเป้ารองรับผู้โดยสารให้ได้ 120 ล้านคน ภายในปี 2573 สนามบินดอนเมือง 40 ล้านคน ภายในปี 2573 สนามบินเชียงใหม่ 20 ล้านคน ภายในปี 2575 สนามบินภูเก็ต 18 ล้านคน ภายในปี 2571 และสนามบินแม่ฟ้าหลวง เชียงราย 6 ล้านคนภายในปี 2575
ในอดีตสนามบินสุวรรณภูมิเคยติดอันดับ1 ใน 10 ของสนามบินที่ดีที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันเราอยู่อันดับที่ 58 ของโลกเพราะสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสนามบินเราสู้เขาไม่ได้ โดยสนามบินสิงคโปร์ สนามบินกรุงโตเกียว สนามบินนครอิสตันบูล และสนามบินกรุงปารีส ได้พัฒนาแซงหน้าเราไปแล้วดังนั้นจะต้องมีการตั้งเป้าหมายให้สนามบินสุวรรณภูมิกลับมาติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลกภายใน 5 ปีนับจากนี้ ภายใต้วิสัยทัศน์ The World Class Airports (สนามบินระดับเวิลด์คลาส) ซึ่งในระยะที่ 1 ระหว่างปี 2568-2570 ทอท.จะมุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานที่มีประสิทธิภาพ ระยะที่ 2 ปี 2571-2575 จะมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านการให้บริการท่าอากาศยาน และระยะที่ 3 ปี 2576-2580 จะมุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการท่าอากาศยานชั้นนำของโลก ทั้งนี้การลดระยะเวลาเฉลี่ยทั้งกระบวนการผู้โดยสารขาเข้า-ขาออกระหว่างประเทศ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญโดยจะมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อลดระยะเวลาขาเข้าลงจาก 30 นาทีเป็น 25 นาที เร็วขึ้น 17% และลดระยะเวลาขาออกลงจาก 45 นาทีเป็น 30 นาที เร็วขึ้น 30%
นายกีรติ กล่าวถึงการสร้างอาคารผู้โดยสารใหม่ในสนามบินสุวรรณภูมิด้วยว่า จะมีการสร้างอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) ซึ่งเป็นไปตามแผนแม่บทเดิม ใช้เวลาออกแบบประมาณ 14 เดือน จากนั้นจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติงบประมาณดำเนินการคาดใช้เวลาประมาณ 3 เดือน เบื้องต้นเปิดประมูลได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปีครึ่ง และเปิดให้บริการปลายปี 2574
สำหรับอาคารผู้โดยสารด้านทิศใต้ (South Terminal) คาดวงเงินลงทุนประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 70 ล้านคนต่อปี จะมีขนาดใหญ่กว่าอาคารผู้โดยสารหลัก (Main Terminal) ในปัจจุบัน เป็นการเพิ่มการเดินทางเข้าท่าอากาศยาน ด้านทิศใต้ จากถนนถนนบางนา-ตราด และจะมีการต่อเชื่อมทางพิเศษบางนา-ชลบุรี เข้าสู่อาคารด้วยเพื่อความสะดวก
ส่วนทางวิ่งเส้นที่ 4 (รันเวย์ 4) ซึ่งอยู่ฝั่งตะวันออกของสนามบิน จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดประมาณ 10 เดือน คาดเปิดประมูลในต้นปี 2570 ใกล้เคียงกับอาคารผู้โดยสารด้านใต้ โดยประมาณการณ์วงเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีงานปรับปรุงคุณภาพดิน (Ground Improvement) ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน คาดเปิดประมูลก่อสร้างได้ในต้นปี 2570 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2573 สำหรับโครงการส่วนต่อขยายอาคารผู้โดยสารหลักด้านทิศตะวันออก (East Expansion) วงเงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท การออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. พิจารณาเห็นชอบในเดือนกันยายนนี้ จากนั้นจะเสนอ ครม.รับทราบ คาดว่าจะเปิดประมูลในเดือน ธ.ค.2567
ทางด้านส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันตกของอาคารผู้โดยสาร (West Expansion) รอการทบทวนแผนแม่บทฯ เสร็จก่อน จากนั้นจะมีการออกแบบรายละเอียดเพื่อให้สอดคล้องกับแผนแม่บทที่ทบทวนใหม่ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบประมาณ 8 เดือน ดังนั้น จะเปิดประมูลได้ในช่วงเวลาเดียวกับผู้โดยสารด้านทิศใต้.-513-สำนักข่าวไทย