กรุงเทพฯ 16 ส.ค. – คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิจัยและศึกษาแบบบังเอิญ จนพบว่ามีสารบางสารที่อยู่ในกลิ่นเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เท่านั้น จึงนำเครื่องมือตรวจสารระเหยง่าย มาดัดแปลงเพื่อตรวจโควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อ
นักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังทดลองใช้เครื่องตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อ หาเชื้อจากตัวอย่างที่เก็บมา ซึ่งเป็นการวิจัยและศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ จนพบว่ากลิ่นเหงื่อของผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะมีสารบางตัวอยู่ในกลิ่นนั้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า เหงื่อของคนอาจมีกลิ่นกว่า 100 กลิ่น แต่จากตัวอย่างกลิ่นเหงื่อจากผู้ติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ มีความแตกต่างกัน ในกลิ่นเหงื่อของผู้ติดเชื้อ มีสารบ่งชี้ 5 สาร ที่มาจากสารอะโรมาติก ซึ่งสันนิษฐานว่า สารทั้ง 5 สารนี้ เกี่ยวข้องกับแบคทีเรียบางตัวที่โจมตีร่างกายและปอด ขณะอ่อนแอจากเชื้อโรค แบคทีเรียเหล่านี้ขับสารปนเหงื่อออกมา เป็นกลิ่นจำเพาะที่อาจมีเฉพาะในผู้ติดเชื้อโควิด-19
ส่วนเครื่องตรวจโควิด-19 ด้วยกลิ่น เป็นเครื่องตรวจสารระเหยง่าย ชื่อเครื่อง Photoionization Detector ปกติใช้ตรวจสารระเหยง่าย เมื่อสารลอยเข้าเครื่องก็จะส่งสัญญาณ การใช้เครื่องนี้จึงต้องดัดแปลง
น.ส.อิศญา ทวีแสงสกุลไทย นักศึกษาปริญญาโท ภาควิชาเคมี หนึ่งในทีมวิจัย บอกว่า หลักการคือต้องการให้แค่สาร 5 สารที่เป็นกลิ่นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระเหยเข้าเครื่องเพื่อส่งสัญญาณ ดังนั้นจึงต้องใส่ตัวกรอง เพื่อไม่ให้สารระเหยอื่นเข้าไปในเครื่อง โดยขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อ จะให้ผู้ถูกตรวจหนีบสำลีที่รักแร้ 15 นาที จากนั้นทิ้งสำลีไว้ในขวดแก้ว ฆ่าเชื้อด้วยรังสียูวี ใช้ไซริงค์ดูดกลิ่นในขวดแก้วมาอัดเข้าเครื่อง หากมีสาร 5 สารที่เป็นกลิ่นของผู้ติดเชื้อโควิด-19 เครื่องจะส่งสัญญาณ
งานวิจัยและศึกษาที่ผ่านมา ตรวจตัวอย่างผู้ติดเชื้อ 2,000 คน ร่วมกับวิธีตรวจ RT-PCR พบว่าแม่นยำถึง 95% แต่ผู้สนับสนุนงานวิจัยชิ้นนี้ คือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด สนับสนุนให้พยายามลดเวลาในการตรวจหาเชื้อให้สั้นลง คาดว่าใน 1-2 เดือนนี้ น่าจะเห็นผลที่ชัดเจนขึ้น โดยเครื่องตรวจสารระเหยง่ายที่นำมาใช้ ราคาเครื่องละกว่า 200,000 บาท หากวิธีการนี้แม่นยำและใช้งานได้จริง จะคุ้มค่ามาก
ทั้งนี้ งานวิจัยและศึกษาตรวจหาเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อ เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ จากการที่คณะนักวิจัยไปร่วมสนับสนุนงานวิจัยใช้สุนัขดมกลิ่นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือโครงการ “รถดมไว” ของคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งทำให้พบว่า กลิ่นเหงื่อของผู้ติดเชื้อมีสารทั้ง 5 สารนี้
ส่วนโครงการรถดมไว มีสุนัข 6 ตัว ทำงานร่วมกับรถชีวนิรภัยของกรมควบคุมโรค ในเฟสแรกจากเดือนกันยายน 2563 – มีนาคม 2564 ได้ผลดีแม่นยำ 96% แต่ตอนนี้ความแม่นยำลดลง อาจเพราะปัจจัยเรื่องเชื้อกลายพันธุ์ ตอนนี้จึงไม่ได้ใช้สุนัข
การตรวจโควิด-19 จากการดมกลิ่นที่ใช้สุนัข เคยได้ผลมาแล้ว และบังเอิญให้ค้นพบการตรวจโควิด-19 จากกลิ่นเหงื่อ ของคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งถ้าสำเร็จลงตัว น่าจะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยตรวจหาเชื้อในวิกฤติครั้งนี้ได้มากขึ้น. – สำนักข่าวไทย