กทม. 7 มี.ค. – มติที่ประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรไม่ขยายเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษีจากผู้มีเงินได้หากเกิน 5 ปี ทำให้วันนี้ไม่ได้ข้อสรุปการเรียกเก็บภาษีนายทักษิณ คดีขายหุ้นชินคอร์ปอเรชั่น หลังคดีจะหมดอายุความ 31 มีนาคมนี้
นายประภาส คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรว่า ที่ประชุมมีมติไม่ขยายเวลาออกหมายเรียกเก็บภาษีเงินได้จากผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีออกไปตามที่กรมสรรพากรเสนอ เนื่องจากตามมาตรา 19 ประมวลรัษฎากร กำหนดว่า หากมีคดีความทางภาษีระยะเวลา 10 ปี กรมสรรพากรต้องออกหมายเรียกภายใน 5 ปี หากพ้นระยะเวลา 5 ปีแล้ว จะไม่สามารถออกหมายเรียกได้ และขั้นตอนต่อไปจะนำมติดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นการทั่วไป และดำเนินการต่อทุกคดีทางภาษี
อย่างไรก็ตาม มติวันนี้ไม่ส่งผลโดยตรงต่อกรณีการจัดเก็บภาษีเงินได้จากนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการขายหุ้นบริษัท อินทัช หรือชื่อเดิมคือ บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น เมื่อปี 49 ให้บริษัท เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ (พีทีอี) ผ่านบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้งส์ รวมเป็นเงินการซื้อหุ้นกว่า 73,000 นล้านบาท เพื่อประเมินมูลค่าภาษีประมาณ 16,000 ล้านบาท และจะหมดอายุความในวันที่ 31 มีนาคมนี้ เนื่องจากการประเมินเสียภาษีในคดีดังกล่าวยังไม่มีองค์กรตัดสินชัดเจนว่าควรเสียภาษีหรือไม่ เพราะยังไม่มีข้อสรุปว่าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี หรือเป็นการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ส่วนเหตุผลที่ไม่เรียกเก็บภาษีจากนายพานทองแท้ และนางพินทองทา บุตรของนายทักษิณตามที่ สตง.เสนอ เนื่องจากศาลตัดสินชี้ชัดแล้วว่าไม่เกี่ยวข้องกับการรับภาระภาษี
ขณะที่นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการ สตง. ระบุว่าหากผู้เกี่ยวข้องและกรมสรรพากรไม่ดำเนินการจัดเก็บภาษีในคดีนี้ อาจมีความผิดตามมาตรา 154, 157 ประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากละเลยการปฏิบัติหน้าที่ มีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี และปรับ สตง.ในฐานผู้ติดตามและตรวจสอบ
ด้านนายกรัฐมนตรี ระบุได้มอบหมายกระทรวงการคลังกำชับกรมสรรพากรติดตามกรณีหุ้นชินคอร์ป ที่กำลังจะหมดอายุความแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการ. – สำนักข่าวไทย