สำนักข่าวไทย 14ก.ค. -สธ.แจงเวชภัณฑ์มีเพียงพอ ยอดยาฟาวิพิราเวียร์ และเรมดิสซีเวียร์ในระบบ มี 4 ล้านเม็ด เตรียมจัดหาเพิ่มยาวถึง ก.ย. จำนวน 21 ล้านเม็ด คาดในเดือน ก.ค.ต้องใช้จำนวนมาก ส่วนจำนวนเตียงใน กทม. ยังต้องติดตาม ปรับเพิ่มศักยภาพเตียงผู้ป่วยสีเขียว ให้รองรับผู้ป่วยสีเหลืองมากขึ้น
นพ.กรกฤช ลิ้มสมมติ ผู้อำนวยการกองบริหารการสาธารณสุข กล่าวถึงการบริหารจัดการเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการรักษาโควิด-19 ว่า ยาที่ใช้ในการรักษาโรคโควิดในไทย มี 2 ตัว คือ ยาฟาวิพิราเวียร์และเรมดิสซิเวียร์ โดยจากการสำรวจเมื่อวันที่ 13 ก.ค.64 มียาฟาวิพิราเวียร์ 200 mg 4,017,781เม็ด กระจายอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.) จำนวน 2,170,782 เม็ด อยู่ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 1,015,284 เม็ด (กระจายอยู่ทุกจังหวัด) , กรมการแพทย์ 801,567 เม็ด และกรมควบคุมโรค 30,148 เม็ด เพื่อควบคุมการระบาด ส่วนยาเรมดิสดิซิเวียร์ 100 mg มีทั้งหมด 1,613 ขวด ทั้งหมดอยู่ที่องค์การเภสัชกรรม สถานการณ์ปัจจุบันสามารถสนับสนุนให้พื้นที่อย่างเพียงพอ สนับสนุนผ่านเครือข่ายตามปริมาณการใช้จริง
นพ.กรกฤช กล่าวว่า ส่วนการวางแผนจัดหานั้น จนถึงเดือน ก.ย.ตั้งใจจัดหายาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งสิ้น 21 ล้านเม็ด โดย 17 ก.ค.จะมีเข้ามาในประเทศ 3.5 ล้านเม็ด วันที่ 20 ก.ค.เข้ามาจำนวน 3.1ล้านเม็ด วันที่ 23 ก.ค.เพิ่มเข้ามาอีก 5.5ล้านเม็ด วันที่ 27ก.ค.อีก 4 ล้านเม็ด ทั้งหมดรวม 16 ล้านเม็ด เชื่อว่าเพียงพอกับความต้องการและสถานการณ์ผู้ป่วยจำนวนมากในเดือน ก.ค. ส่วนเดือน ส.ค.มีแผนนำเข้ามาอีก 2 ล้านเม็ด ก.ย. 2ล้านเม็ด อย่างไรก็ตามหากมีการเปลียนแปลงก็จะสามารถจัดหาเพิ่มขึ้นได้ เพราะมีการประสานประเทศผู้ผลิตไว้แล้ว
นพ.วิทูรย์ อนันกุล ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กล่าวถึงการบริหารจัดเตียงในกทม. ยังต้องติดตาม สัดส่วนของ รพ.สนาม ที่ดูแลผู้ป่วยสีเขียว 2,470เตียง ว่าง 500 เตียง หรือคิดเป็น 20 %และ ฮอสพิเทล 17,823 เตียง ว่าง 4,201 เตียง คิดเป็น 24 %ยังพอมีที่ว่าง ส่วนผู้ป่วยสีเหลือง กลับพบว่าเหลือเตียงว่าง 6% และห้องแยกกัก เหลือ 13% ทำให้มีแนวคิดปรับให้ฮอสพิเทล และ รพ.สนาม ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองให้มากขึ้น โดยในส่วนของผู้ป่วยสีเขียวจะให้มาดูแล แบบHome Isolation มากขึ้น พร้อมเร่งเพิ่มทรัพยากรดูแลผู้ป่วยสีแดงให้รับบริการได้รวดเร็ว โดยได้มีการเพิ่มโคฮอทไอซียู ทั้งภาครัฐและเอกชน ตามจำนวนผู้ป่วย เน้นดูแลผู้ป่วยสูงอายุ และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ที่มีอาการป่วยและอาจพัฒนาเป็นผู้ป่วยสีแดงได้ ขณะเดียวกันระบุว่า การดูแลผู้ป่วยอื่นในแต่ละภูมิภาคไม่มีปัญหา ยกเว้น กทม. ที่ต้องการช่วยเหลือ และจากกการติดตามทรัพยากรอุปกรณ์อื่นๆ พบว่า ในส่วนออกซิเจนที่ต้องจัดเตรียมไว้ให้กับผู้ป่วยส่วนหนึ่ง ตัวออกซิเจนมีเพียงพอ มีแหล่งผลิต แต่กลับพบปัญหาตัวถังไม่เพียงพอ เนื่องจาก ไทยได้มีการบริจาคถังออกซิเจนให้กับอินเดียไปส่วนหนึ่ง เนื่องจากตอนนั้นสถานการณ์ไทยไม่รุนแรง .-สำนักข่าวไทย