กรุงเทพฯ 13 ก.ค. – ส.อบต.ราชาเทวะ ยื่นหนังสือร้องอธิบดีดีเอสไอสอบโครงการจัดซื้อเสาไฟกินรี ตั้งแต่ปี 56 จำนวนเกือบหมื่นต้น งบประมาณ 900 ล้านบาท ของ อบต.ราชาเทวะ เข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่ พร้อมให้ตรวจสอบทรัพย์สินผู้บริหารทั้งหมด ที่ผ่านมาแม้ชาวบ้านจะท้วงติง แต่ผู้บริหารไม่สนใจ
นี่เป็นข้อเรียกร้องจากชาวบ้านพื้นที่ราชาเทวะ จ.สมุทรปราการ ที่ตัวแทน ส.อบต. เข้ายื่นหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอ ให้ตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างโครงการเสาไฟกินรีโซลาร์เซลล์ ของ อบต.ราชาเทวะ ตั้งแต่ปี 56 ถึงปัจจุบัน ว่าเข้าข่ายการฮั้วประมูลหรือไม่
โดยเนื้อหาบางช่วงบางตอนในหนังสือฉบับนี้ระบุว่า ตั้งแต่ปี 56 กรมทางหลวงสั่งรื้อเสาไฟกินรีที่ไม่ได้มาตรฐานออกจากพื้นที่แล้ว และ สตง. ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่รัฐ หรือหน่วยงานตรวจรับ เป็นเงินกว่า 67 ล้านบาท แต่ทำไม อบต. ยังเดินหน้าจัดซื้อจัดจ้างต่อ แม้ชาวบ้านจะเคยทักท้วงหลายครั้งถึงความไม่เหมาะสม แต่เสียงยังดังไม่พอ อบต. ยังคงดำเนินการจัดซื้อและติดตั้งเสาไฟกินรีกว่าหมื่นต้น ด้วยงบประมาณกว่า 900 ล้านบาท ที่สำคัญบริษัทที่ชนะการประมูลทุกโครงการมีเพียงรายเดียวเท่านั้น จึงเกิดข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใสของการประมูลที่ทำให้ราคาที่ประมูลได้สูงผิดปกติ
นอกจากนี้ยังต้องการให้ดีเอสไอตรวจสอบทรัพย์สินของผู้บริหารของ อบต. ทั้งหมด เพราะมองว่ายังมีหลายอย่างผิดปกติ และหวังว่าดีเอสไอจะทำเรื่องนี้ให้กระจ่าง
ด้านดีเอสไอรับพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว หลังจากนี้จะทำการสอบสวนผู้ร้องเรียนและตรวจสอบข้อมูลทั้งหมด ก่อนจะทำเรื่องการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐรับเรื่องไปตรวจสอบถึงขั้นตอนการประมูล จากนั้นจะให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง
หากย้อนไป เสาไฟกินรีโซลาร์เซลล์ ของ อบต.ราชาเทวะ เริ่มสว่างไสวบนโลกออนไลน์ตั้งแต่ต้นเดือนที่แล้ว หลังหลายเพจตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใสในการใช้งบประมาณแผ่นดิน จนหลายหน่วยงานลงพื้นที่ตรวจสอบ ระหว่างนั้นสภา อบต.ราชาเทวะ ได้เดินหน้าอนุมัติงบประมาณซื้อเสาไฟกินรีเพิ่มจำนวน 720 ต้น 68 ล้านบาท ก่อนจะประกาศชะลอโครงการกลางคัน กระทั่ง 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ป.ป.ช. ตั้งคณะทำงานไต่สวน หลังพบการจัดซื้อจัดจ้างผิดระเบียบ ติดตั้งไม่ได้มาตรฐาน และมีการเอื้อประโยชน์ให้บางบริษัท จนวันนี้ ส.อบต. กว่า 10 คน เดินหน้ายื่นหนังสือถึงดีเอสไอ เพื่อทำความจริงให้กระจ่างแก่สังคมต่อไป.-สำนักข่าวไทย