ปัตตานี 3 ก.ค.-สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่ปัตตานี พบผู้ป่วยใหม่สูงถึง 130 ราย เสียชีวิต 2 ราย พร้อมสั่งปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มอีก 9 หมู่บ้าน
สถานการณ์โควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี พบผู้ป่วยรายใหม่สูงถึง 130 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมขณะนี้เพิ่มเป็น 2,723 ราย และพบผู้เสียชีวิตอีก 2 ราย ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตสะสม 14 รายแล้ว ขณะที่ทางจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งประกาศปิดพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นอีก 9 หมู่บ้าน ใน 4 อำเภอ ทำให้ขณะนี้ จังหวัดปัตตานีมีพื้นที่เสี่ยงที่ต้องปิดหมู่บ้านแล้ว 26 หมู่บ้าน ใน 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมือง อ.แม่ลาน อ.กะพ้อ อ.ไม้แก่น อ.ปะนาเระ อ.โคกโพธิ์ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง และ อ.ยะหริ่ง มัสยิดถูกปิด 22 มัสยิดแล้ว
ส่วนกรณีดราม่าเรื่องแพทย์หลายรายโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับ จังหวัดปัตตานีมีเตียงไม่พอสำหรับคนไข้ ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ต้องไปรักษาตัวต่อที่บ้านนั้น ด้านนายแพทย์รุซตา สาและ ผอ.รพ.สนามจังหวัดปัตตานี ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า สำหรับเตียงรักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ต้องยอมรับว่าบางช่วงมีผู้ป่วยติดเชื้อเป็นจำนวนมากต่อวัน โดยเฉพาะช่วงที่ผ่านมา มีผู้ป่วยติดเชื้อเกินหลักร้อยทุกวัน บางวันเกิน 200 ราย ทำให้เตียงไม่เพียงพอต่อผู้ป่วยจริง ๆ แต่ก็เป็นเพียงช่วงเวลาสั้น ๆ เพราะในแต่ละวันก็มีผู้ป่วยที่หายเดินทางกลับบ้านเช่นเดียวกัน ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดปัตตานีได้มีการเตรียมแผนในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลทั้ง 15 แห่งใน 12 อำเภอ โดยแต่ละแห่งจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวน 100 เตียง ซึ่งขณะนี้ได้มีการเปิดเป็นโรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลแล้ว 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลทุ่งยางแดงและโรงพยาบาลหนองจิก จะมีการทยอยเปิดเรื่อย ๆ จนครบทั้ง 15 โรงพยาบาล แต่ขณะนี้มีพื้นที่เตรียมไว้ทำโรงพยาบาลสนามแล้วทุกแห่ง เพียงแค่รออุปกรณ์ทั้งเตียง เบาะ ผ้าปูที่นอน รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ ซึ่งขณะนี้ได้เร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์ จะสามารถเปิดได้ทุกแห่ง ซึ่งถ้าเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ก็จะสามารถรองรับผู้ป่วยติดเชื้อของจังหวัดปัตตานีได้ทั้งหมด
กรณีที่ทางโรงพยาบาลโคกโพธิ์ ได้นำร่องให้ผู้ป่วยติดเชื้อที่ผ่านการ รักษาจากโรงพยาบาลแล้วอาการดีขึ้น แต่ยังมีเชื้อโควิดอยู่ ให้กลับไปรักษาตัวต่อที่บ้านนั้น ด้านนายแพทย์รุซตา เปิดเผยว่าในเรื่องนี้ก็เป็นส่วนหนึ่ง เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเป็นจำวนมาก จนโรงพยาบาลบางแห่งล้นจนไม่มีเตียงให้กับผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารับการรักษา แต่ถ้าการขยายโรงพยาบาลสนามเสร็จแล้วตามแผน ก็ไม่อยากให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้าน อยากให้รักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสนามมากกว่า เพราะง่ายต่อการดูแล อีกทั้งถ้าในอนาคต มีผู้ป่วยไปรักษาตัวต่อที่บ้านจำนวนมากขึ้น จะส่งผลให้ต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดความดัน ปรอทวัดไข้ รวมถึงเครื่องวัดความเข้มข้นของออกซิเจนในเส้นเลือด ซึ่งทางโรงพยาบาลจะต้องมอบให้กับผู้ป่วยทุกราย เพื่อให้ผู้ป่วยใช้วัดอาการของตัวเองในแต่ละวัน ซึ่งหากว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ก็หมายถึง ต้องมีการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์เป็นจำนวนมากเช่นกัน ดังนั้น ถ้าทางจังหวัดปัตตานีสามารถทำโรงพยาบาลสนามได้ตามแผนที่วางไว้ ผู้ป่วยที่อาการดีขึ้นควรรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลสนาม เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา .-สำนักข่าวไทย