กรมสุขภาพจิต 3 มี.ค.- อธิบดีกรมสุขภาพจิตแสดงความยินดีวันนักข่าว5มี.ค.นี้ ชี้สื่อมวลชนสำคัญส่งผ่านข้อมูลถูกต้องถึงประชาชน ฝาก5ข้อ สื่อสารเชิงบวกเกี่ยวกับผู้ป่วยสุขภาพจิต
นาวาอากาศตรี นายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่าวันที่ 5 มี.ค.ของทุกปีเป็นวันนักข่าวหรือวันสื่อสารมวลชนแห่งชาติ กรมสุขภาพจิตขอแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสครบรอบวันสถาปนา 62 ปี ขณะที่ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต คนทำข่าวจึงมีความสำคัญเนื่องจากเป็นคนกลางส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครบถ้วนให้กับประชาชนเปรียบเหมือนกระจกสะท้อนสังคม ที่ควรสะท้อนในทุกด้านมากกว่าสะท้อนเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
อย่างไรก็ตามในแง่มุมการสื่อสารด้านสุขภาพจิต เมื่อพูดถึงผู้มีปัญหาสุขภาพจิต หลายคนในสังคมอาจยังไม่ค่อยเข้าใจ หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ส่วนหนึ่งมองว่าการเจ็บป่วยเป็นการเสแสร้ง แกล้งทำ น่าเบื่อหน่าย เรียกร้องความสนใจและมักถูกเยาะเย้ยหรือซ้ำเติม ถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อสังคม สร้างความรู้สึกหวาดกลัว รังเกียจ สร้างความรู้สึกอับอายให้กับครอบครัวที่มีผู้ป่วยจิตเวช เหล่านี้ ก่อให้เกิดภาพลบตอกย้ำตราบาปต่อผู้มีปัญหาสุขภาพจิตและผู้ป่วยจิตเวชในสังคมมากขึ้น ถือเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงบริการบำบัดรักษา จึงต้องขอย้ำว่า โรคทางจิตเวชไม่ใช่ โรคร้าย ไม่ใช่ตราบาป ไม่ใช่เรื่อง น่าละอาย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ขอเพียงเข้าถึงบริการให้เร็ว ที่สำคัญ ต้องทานยาให้ต่อเนื่อง อยู่ในการควบคุมของแพทย์ สามารถรักษาให้หายกลับคืนสู่สังคมได้อย่างมีคุณค่าต่อไปได้
ทั้งนี้ สื่อมวลชนจึงเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญที่จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้มีสุขภาพ จิตดี สร้างความตระหนัก ลดความตระหนก ช่วยลดตราบาป สื่อสารเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ให้กับสังคมได้ โดย
1.ระมัดระวังการพาดหัวข่าวหรือการนำเสนอภาพความน่ากลัวหรือรุนแรงซ้ำๆภาพการสูญเสีย สิ้นหวัง ทำร้ายตนเอง การเน้นหรือตอกย้ำ ให้ความโดดเด่นหรือดราม่า ก่อให้เกิดความรู้สึกสะเทือนใจ ซ้ำเติมความทุกข์หรือโศกนาฏกรรมหรือด่วนสรุปว่า การทำร้ายตนเองหรือฆ่าตัวตายมาจากสาเหตุใดเพียงสาเหตุเดียว ซึ่งกลุ่มเปราะบางทางอารมณ์อาจเกิดการคล้อยตามหรือเลียนแบบได้ ที่สำคัญไม่ควรขยายความขัดแย้งให้เกิดขึ้น
2.คำนึงถึงการนำเสนอข่าวที่อาจส่งผลต่อความรู้สึกหรือเกิดผลกระทบในทางลบต่อผู้ป่วย ญาติและผู้ใกล้ชิด ไม่ซักถามเรื่องความสูญเสียจากผู้ที่ยังไม่พร้อมจะเล่า เพราะยิ่งเป็นการซ้ำเติมบาดแผลทางใจ ไม่ล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิมนุษยชนของเด็ก สตรี และผู้ด้อยโอกาส
3.สอดแทรกความรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ให้ข้อมูลที่ถูกต้องและจำเพาะกับประชาชน เช่น การให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการหรือโรคทางจิตเวช การนำเสนอสัญญาณเตือน แนวทางการดูแลจิตใจ การป้องกันปัญหา ตลอดจน การนำเสนอตัวอย่างด้านบวกแก่สังคม เพื่อช่วยให้เกิดความหวังและการเรียนรู้ในการเผชิญกับปัญหา โดยสามารถขอความรู้หรือข้อแนะนำได้จากจิตแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญ หรือนักวิชาการด้านสุขภาพจิต
4.ให้ข้อมูลแหล่งให้การช่วยเหลือด้านจิตใจ หน่วยงานให้บริการ หรือให้คำปรึกษา เช่นสายด่วนสุขภาพจิต1323และหน่วยงานหรือสถานพยาบาลที่ให้บริการที่ควรระบุอย่างชัดเจนในตอนท้ายของข่าว บทความ หรือละคร ในทุกครั้ง
5.ดูแลกายและใจของตัวเองให้ดีเพราะการติดตามทำข่าวแต่ละครั้งอาจได้รับความเครียดและความทุกข์ได้มาก แม้ว่าจะมีประสบการณ์สูงแล้วก็ตาม จึงอย่าลืมพูดคุย ระบายกับเพื่อนร่วมงาน เพื่อนคนในครอบครัว หรือหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ .-สำนักข่าวไทย