รัฐสภา 23 มิ.ย.- “หมอเรวัต” ขอ ส.ว. ยอมสละอำนาจ ด้าน พล.อ.ต.เฉลิมชัย ชี้ทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญและประชามติ หากจะแก้ ม.272 ให้ถามประชาชนก่อน
นพ.เรวัต วิศรุตเวช ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเสรีรวมไทย (สร.) อภิปรายการแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญวาระแรก ตอนหนึ่งว่า วันนี้ (23 มิ.ย.) เป็นโอกาสที่ดีที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ด้วยการยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.เลือกนายกฯ เพราะไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย ซึ่งวันนี้เรามีผู้ติดเชื้อใหม่ 3,000 กว่าราย ตาย 50 กว่าราย ยอดติดเชื้อสะสมกว่า 2 แสนราย และยังมีไวรัสที่กลายพันธุ์อีกหลายสายพันธ์จ่อคิวเข้ามา ขณะที่รัฐบาลจัดหาวัคซีนได้ไม่เพียงพอ ทั้งประสิทธิภายยังต่ำมาก ทำให้เกิดวิกฤติอย่างชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาเลยในประวัติศาสตร์ คือวิกฤติการแพร่ระบาดที่ควบคุมไม่ได้ และเศรษฐกิจที่พังพินาศแถมแก้ไขไม่ได้
ดังนั้น ถ้ายังไม่แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 272 ยังคงให้อำนาจกับ ส.ว. มาเลือกนายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็จะกลับมาเป็นนายกฯ อีก เพราะ 250 ส.ว. เป็นคนที่พล.อ.ประยุทธ์ แต่งตั้งมาเอง ยังไงก็ต้องเลือก พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นนายกฯอีกครั้ง ซึ่งทุกคนทราบดีว่า พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะแก้ปัญหาวิฤติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้แล้ว อาจจะเพิ่มวิกฤติให้มากขึ้นไปอีก นีคือเหตุผลสำคัญที่ตนเห็นว่าต้องยกเลิกมาตรา 272
“ผมขอเรียนผ่านประธานไปยัง ส.ว.ทั้ง 250 ท่าน ได้โปรดพิจารณา ได้โปรดมีใจเมตตาต่อประชาชน ยอมสละอำนาจที่ไม่เเป็นคุณต่อประเทศชาติเลย ยกเลิกมาตรา 272 เถิด” นพ.เรวัต กล่าว
ด้าน พล.อ.ต.เฉลิมชัย เครืองาม ส.ว. อภิปรายถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ตัดอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า การเข้ามาทำหน้าที่ของ ส.ว. เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งการร่วมโหวตเลือกนายกฯก็เป็นไปตามประชามติ 2559 หากต้องการแก้ไขก็ต้องไปดำเนินการเรื่องวิธีการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ โดยคำถามในประชามติควรมี 2 ข้อ คือ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ ต้องการยกเลิกอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หากไม่ดำเนินการเรื่องนี้ให้ชัดเจนเรื่องก็อาจไปสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้ในอนาคต
พล.อ.ต.เฉลิมชัย ยังกล่าวถึงการเสนอแก้ไขตัดทอนบทบัญญัติและบทลงโทษมาตรา 144 และ มาตรา 185 ว่าด้วย ส.ส.หรือ ส.ว. ต้องไม่ใช่สถานะหรือตำแหน่งไปก้าวก่าย แทรกแซงการจัดทำงบประมาณหรือมีส่วนในการใช้จ่าย ว่า เข้าใจว่าเรื่องบทลงโทษสามารถใช้กฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ แต่หากพิจารณาดูพบว่ากระบวนการเอาผิดใช้ระยะเวลายาวนานกว่าศาลทางการเมือง เพราะหากมีการวินิจฉัยว่ามีความผิดจะพ้นจากตำแหน่งทันที รวมถึง ครม.หากไม่ระงับยับยั้งก็จะพ้นจากหน้าที่ทันทีเช่นกันนี่คือหัวใจของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง
“บทบัญญัติ 10 ประการของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดว่าให้ กรรมการร่างธรรมนูญไปคิดหาวิธีป้องกันปราบปรามคอรัปชั่น มาตรการนี้จึงออกมาเข้มข้นรุนแรงสาหัส เหมือนกับการประหารทางการเมือง ตัดสิทธิเลือกตั้งด้วยตลอดชีวิต แต่มาตรา 185 ไปตัดเรื่องการแทรกแซงก้าวก่ายการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณ อย่าให้ประชาชนผิดหวัง เพราะประชาชนรับไม่ได้ถ้าจะตัดบทลงโทษ พร้อมเฝ้ารอที่ผู้เสนอร่างฯบอกว่าจะแก้ไขในชั้นแปรญัตติให้กลับไปตามเดิม โดยหวังว่าเรื่องนี้รัฐสภาจะไม่ถูกหักหลัง กรุณาอย่าอ้างว่าบันทึกหลักการและเหตุผล ว่าตัดออกแล้วจะใส่กลับเข้าไปเหมือนเดิมไม่ได้ ขออย่าให้เกิดเหตุการณ์อย่างนั้น” พล.อ.ต.เฉลิมชัย กล่าว.-สำนักข่าวไทย