กรุงเทพฯ 9 มิ.ย.- กระทรวงพลังงาน ประเมินการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 หากการฉีดวัคซีนทั่วโลกและไทยเป็นไปตามแผน เปิดประเทศกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนจะต่ออายุมาตรการลดค่าไฟฟ้า-ค่าก๊าซฯ ซึ่งจะหมดพร้อมส่วนลดค่าน้ำในสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ หรือไม่ รอภาครัฐเคาะมาตรการ
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ ติดตามแผนการกระจายวัคซีนอย่างต่อเนื่อง เพราะจะมีผลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การใช้พลังงาน ทั้งน้ำมัน ไฟฟ้า ทั้งการรับการท่องเที่ยว การบริโภค การจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเบื้องต้นจากการประเมิน หากมีการฉีดวัคซีนตามแผน คาดว่าในส่วนของความต้องการใช้ไฟฟ้า ในช่วงครึ่งหลังของปี อาจจะขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดิมที่คาดว่าทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 0.2 อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ทำให้การใช้ไฟฟ้าครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกของไทยจะเติบโตร้อยละ 6-7 ในปี 2564
“การใช้ไฟฟ้า คาดการณ์ว่าการใช้ไฟฟ้าปี 2564 จะอยู่ที่ 187,421 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563 ร้อยละ 0.2 ซึ่งจากการเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอก 2-3 ส่งผลครึ่งปีแรกคาดการใช้ไฟฟ้าลดลงร้อยละ 0.4 แต่หากฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น ทั้งไทยและทั่วโลก ประกอบกับสถานการณ์การส่งออกสินค้าที่ฟื้นตัวตามการขยายตัวของปริมาณการค้าโลก ทำให้การใช้ไฟฟ้าครึ่งปีหลังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 โดยสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดการณ์การส่งออกของไทยจะเติบโตร้อยละ 6-7 ในปีนี้” นายกุลิศ กล่าว
นายกุลิศ กล่าวว่า สิ้นเดือนมิถุนายน 64 จะเป็นการสิ้นสุดของช่วงระยะเวลาการอุดหนุนทั้งราคาก๊าซหุงต้ม และค่าไฟฟ้า เพื่อลดภาระประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ซึ่งกระทรวงฯ รอนโยบายภาครัฐจะให้ต่ออายุมาตรการเหล่านี้หรือไม่ โดยในส่วนของค่าไฟฟ้านั้น หากจะช่วยเหลือต่อก็ต้องใช้งบประมาณจากรัฐบาล เช่น วงเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน เป็นต้น
ในขณะที่การตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ผ่านมาใช้วงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาดูแล โดยใช้กลไกระหว่างบัญชีน้ำมันและบัญชีก๊าซหุงต้ม ซึ่งล่าสุดคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) กำหนดกรอบวงเงินอุดหนุนราคาแอลพีจีที่ 1.5 หมื่นล้านบาท โดยข้อมูลถึงวันที่ 9 พ.ค.64 มีการอุดหนุนในบัญชีก๊าซหุงต้มไปแล้ว12,328 ล้านบาท ส่วนบัญชีน้ำมันอยู่ที่ 32,826 ล้านบาท ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ มีเงินสุทธิอยู่ที่ประมาณ 20,498 ล้านบาท ซึ่งหากจะตรึงราคาต่อก็ต้องดูถึงกรอบวงเงินพิจารณาว่าเหมาะสม และดำเนินการตามกฎหมายของการใช้เงินกองทุนน้ำมันฯ หรือไม่
สำหรับการอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม เพื่อลดภาระจากผลกระทบโควิด-19 กำหนดราคาก๊าซครัวเรือน ถังขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 318 บาท มีผลถึงวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ตามมตินี้ กบง.ได้ประกาศตรึงราคาขายส่งหน้าโรงกลั่น LPG ที่ 14.3758 บาท/กิโลกรัม (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ส่วนการลดค่าไฟฟ้าและค่าน้ำ ร้อยละ 10 เป็นไปตามมติ ครม. 5 พ.ค.64 ลดระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 โดยคำนวณส่วนลดเปรียบเทียบกับฐานการใช้ไฟฟ้าเดือน เม.ย. ซึ่งคาดว่าจะใช้วงเงินงบประมาณสนับสนุนราว 8,000 ล้านบาท ในขณะที่ค่าน้ำ คาดใช้เงินอุดหนุนราว 2,000 ล้านบาท. – สำนักข่าวไทย