กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 7มิ.ย.-กรมวิทย์ฯ เผยโควิด-19 ในไทยระบาดมากสุด ยังเป็นสายพันธุ์อังกฤษ มากกว่าร้อยละ 90 สายพันธุ์อินเดียพบร้อยละ6 กระจายทั้งกรุงเทพฯ และอีกหลายจังหวัด จับตาใกล้ชิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ยังคุมได้ มีอยู่เฉพาะนราธิวาส ด้าน “นพ.ยง” เผยโควิดกลายพันธุ์ได้น้อยกว่าไข้หวัดใหญ่ 5 เท่า เชื่อวัคซีนเจนเนอเรชั่นใหม่จะพัฒนาเอาชนะได้ ด้านศูนย์จีโนม จับตาเชื้อกลายพันธุ์ลูกผสม ทั้งไฮบริดโควิดฯ เชื้อผสมสายพันธุ์ และโคอินเฟกชั่น ที่ผู้ติดเชื้อคนเดียวเวลาเดียวหลายสายพันธุ์ ซึ่งพบน้อยมาก
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวเรื่อง “การเฝ้าระวังการกลายพันธุ์เชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในประเทศไทย” ประเด็นสถานการณ์การกลายพันธุ์ในประเทศ การวิเคราะห์ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการและผลกระทบของการกลายพันธุ์
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สายพันธุ์โควิดที่น่าห่วงยังเป็นสายพันธุ์ อังกฤษ อินเดีย แอฟริกาใต้ และบราซิล โดยจากการเก็บข้อมูลทำวิจัย 3,964 ราย พบสถานการณ์ปัจจุบันสายพันธุ์ที่ระบาดคือสายพันธุ์อังกฤษ มากกว่า 3,500 ราย หรือร้อยละ 90
ส่วนสายพันธุ์อินเดีย ที่พบครั้งแรกที่คลัสเตอร์ หลักสี่และคาดการณ์จะแทนที่สายพันธุ์อังกฤษ ขณะนี้พบกว่า 230 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ6 , ใน กทม.มากสุด 206 ราย และกระจายไปต่างจังหวัด พบที่คลัสเตอร์บายศรีสู่ขวัญ อุดรธานี 17 ราย นอกจากนี้กระจายใน จ.นนทบุรี พิษณุโลก สระบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี สมุทรสงคราม บุรีรัมย์
ส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังมากคือ แอฟริกาใต้ ที่มีผลต่อวัคซีน ขณะนี้พบ 26 ราย ยังควบคุมได้ที่ จ.นราธิวาส ซึ่งต้องจับตาอย่างใกล้ชิด ไม่ให้กระจายออกมาพื้นที่อื่น นอกจากนี้ยังจับตาสายพันธุ์ท้องถิ่นที่พบด้วยในการระบาดระลอกสองที่ปทุมธานีและสมุทรสาคร
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าสายพันธุ์อินเดียที่แพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์อังกฤษ จะกลายเป็นสายพันธุ์ที่พบมากในอนาคต โดยสายพันธุ์อินเดียที่พบในไทย เหมือนที่พบในมาเลเซีย และนราธิวาส
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงการตรวจภูมิคุ้มกันหลังรับวัคซีนว่ามีเพิ่มขึ้นอย่างไร ขอให้เป็นเรื่องที่กรมวิทย์ฯ และหน่วยงานที่มีหน้าที่ดำเนินการ ซึ่งจะทำวิจัยเป็นรายกลุ่ม ไม่มีความจำเป็นต้องทำเป็นรายบุคคล เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง หากทำรายคน ค่าใช้จ่ายสูงกว่าวัคซีนอีกและหากประชาชนตรวจเองก็วิจัยไม่ได้ จึงขออย่าหลงเชื่อการขายชุดตรวจแอนติบอดี้ที่เริ่มมีขายกัน ไม่มีความจำเป็น
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ศูนย์ฯ ได้ทำการถอดพันธุกรรมไวรัสก่อโรคโควิด-19 ใน 3 รูปแบบคือ
1.ตรวจสอบรหัสพันธุกรรม 40 ตำแหน่งอย่างรวดเร็ว 1-2 วัน แยกไวรัสที่เป็นปัญหาในประเทศ ส่งตรวจ 1,000 ตัวอย่างต่อสัปดาห์ 2.ถอดรหัสฯ โควิด-19 ทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัสสายยาวใช้เวลา 2 วัน เหมาะกับการตรวจไวรัสลูกผสมหรือการติดชื้อสองสายพันธุ์ ในคนเดียวในเวลาเดียวกัน และ 3.ถอดรหัสพันธุกรรม เชื้อโควิด-19 ทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยีการถอดรหัส สายสั้น ใช้เวลา 4-5 วัน เพื่อติดตามการกลายพันธุ์ของไวรัส
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวอีกว่าประเทศไทยตรวจพบสายพันธุ์โควิด-19 ได้หลากหลาย และเมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกับที่ระบาดทั่วโลก พบว่าเชื้อกลายพันธุ์ ส่วนใหญ่เป็นเชื้อนำเข้าจากประเทศอื่น ปัจจุบันไทยยังไม่พบการกลายพันธุ์ที่พบเฉพาะในประเทศไทยซึ่งการยับยั้งการกลายพันธุ์ในไทยคือต้องช่วยกันไม่ให้มีการติดเชื้อจำนวนมาก โดยขณะนี้ประเทศไทย เฝ้าระวัง 9 สายพันธุ์หลัก และ 44 สายพันธุ์ย่อย
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไวรัสกลายพันธุ์เพื่อความอยู่รอดของไวรัสเอง เราจึงต้องรู้ทันและเข้าใจว่าจะต้องอยู่ร่วมกับไวรัสในช่วงนี้ ไม่มีทางทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหมดสิ้นไป ต้องหาวิธีให้อยู่ด้วยกันได้ การกลายพันธุ์เป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต เพื่อให้อยู่รอด ตอนนี้สายพันธุ์อินเดียเข้ามา ทำให้เกรงกันว่าจะแพร่ระบาดมากขึ้น มาแทนสายพันธุ์อังกฤษ เพราะเวลาระบาดในชุมชนจะแพร่เร็ว ติดง่ายและคุมยาก ส่วนสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่หลบหลีกภูมิต้านทานทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง ต้องเฝ้าระวังพิเศษ
ทั้งนี้ สายพันธุ์อินเดียและอังกฤษมีการระบาดในประเทศอังกฤษและพบว่า ทั้ง 2 สายพันธุ์ ไม่ทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง เพราะพบว่า คนที่ติดสายพันธุ์อินเดียเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือรับไม่ครบโดส อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังบอกไม่ได้ว่าความรุนแรงมากน้อยกว่ากันอย่างไร หากเทียบอัตราตายของการระบาดรอบแรกกับรอบนี้ พบไม่ต่างกันนัก จึงยังบอกไม่ได้
นพ.ยง กล่าวอีกว่า เชื้อโควิดเปลี่ยแปลงพันธุกรรมน้อยกว่า ไข้หวัดใหญ่ ถึง 5 เท่า จึงเชื่อว่าวัคซีนเจนเนอเรชั่นใหม่ จะเอาชนะสายพันธุ์ที่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ถ้าเรามีภูมิต้านทานเกิดขึ้นก็จะคุมความรุนแรงของโรคได้จนกลายเป็นโรคหวัดชนิดหนึ่ง
นพ.ยง กล่าวถึงการเปลี่ยนฉีดยี่ห้อวัคซีนโควิดว่า วัคซีนโควิดเป็นเรื่องใหม่ ทำมาเร็ว ทางปฏิบัติจึงไม่แนะนำให้เปลี่ยนยี่ห้อ เว้นแต่มีการแพ้วัคซีนเข็มแรก เข็มสองอาจเปลี่ยน ต้องทำการศึกษาต่อ เพราะในไทยยังไม่มีการใช้วัคซีนจากเทคโนโลยีmRna สำหรับคนที่ติดเชื้อแล้วหายแล้วจะเท่ากับการได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้ว การฉีดวัคซีนจะมีก็หลัง3-6เดือน ซึ่งในช่วงที่วัคซีนยังไม่พอก็ให้รอก่อนได้.-สำนักข่าวไทย