12 พฤษภาคม 2564 ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, ภริตพร สุธีพิเชฐภัณฑ์
ตามที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อโซเซียลมีเดียถึงผลข้างเคียงภายหลังการรับวัคซีนโควิด 19 จำนวนมาก อาทิ ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ มีเลือดออกในสมอง เกิดอาการชาทั้งตัว รวมถึงทำให้เนื้อในสมองบางลง นั้น ทำให้สังคมเกิดความวิตกกังวลต่อการรับวัคซีนโควิด-19 เป็นอย่างมาก สร้างความไม่ความมั่นใจ และความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับประชาชน ขณะที่ภาครัฐบาล รวมถึงองค์กรแพทย์ พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ต่างยืนยันว่า ประชาชนควรได้รับการวัคซีนโควิด-19 เพื่อลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง และลดการเสียชีวิต
“ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” ได้รวบรวมแถลงการณ์จากองค์กรแพทย์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบก่อนตัดสินใจรับการฉีดวัคซีนโควิด-19
10 เม.ย. 64 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฯ ชี้แจงว่าตามที่ได้มีการเผยแพร่ข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงเรื่องการฉีดวัคนป้องกันโรคโควิด-19 โดยอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลของอาจารย์ท่านนั้นเพียงผู้เดียว
สรุป คณะแพทย์จุฬา และสภากาชาดไทย สนับสนุนให้คนไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพื่อหยุดยั้งการแพร่กระจายของโรคโดยเร็วที่สุด
27 เม.ย. 64 นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค
ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี ได้แถลงข่าวกรณีหญิงอายุ 23 ปี ภูมิลำเนา จังหวัดอ่างทอง พักอาศัยที่จังหวัดปทุมธานี เสียชีวิตภายหลังการได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ผลสรุปจากคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญฯ พบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วมโดยบังเอิญ และเกิดขึ้นภายหลังการฉีดวัคซีน 1 วัน จากประวัติได้รับประทานอาหารเสริม จากนั้น 30 นาที มีอาการคลื่นไส้อาเจียน ต่อมามีอาการเกี่ยวกับระบบประสาท ปวดศีรษะรุนแรง เริ่มมีการแสดงท่าทางแปลกๆ ซึ่งเป็นสัญญาณผิดปกติ และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
สรุป คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน พบว่า ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนเป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วมโดยบังเอิญ
30 เม.ย. 64 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงกรณีที่มีแพทย์รายท่านหนึ่งออกมาระบุว่าฉีดวัคซีนไม่ช่วยอะไร โดยทางคณะแพทย์ฯ ชี้แจงว่า การได้รับวัคซีน Sinovac จะเริ่มตรวจพบภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ในเลือดในปริมาณที่สูงพอต่อการป้องกันโรคหลังได้รับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 การเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงโดยไม่ได้ป้องกันตนเองอย่างเพียงพอ รวมทั้งการได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไม่ครบตามที่กำหนดไว้ในหลักฐานทางการแพทย์ ไม่ได้แสดงถึงการขาดประสิทธิภาพของการได้รับวัคซีนโควิด-19
สรุป ร่างกายสามารถสร้างภูมิคุ้มกันไวรัสโควิด-19 ในปริมาณที่สูงพอหลังได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 และเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีน เพราะสามารถป้องกันการติดเชื้อ และสามารถลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 ได้
7 พ.ค. 64 ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แถลงใจความว่า วัคซีนโควิด-19 ที่ดีที่สุด คือสามารถได้รับการฉีดโดยเร็วที่สุด สำหรับอาการรุนแรงจากวัคซีนโควิด-19 น้อยกว่า 10 รายต่อการรับ 1 ล้านเข็ม วัคซีนสามารถลดการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลดการนอนโรงพยาบาล และลดการเสียชีวิต พร้อมสนับสนุนให้กลุ่มบุคคลที่มีโรคประจำตัว 7 โรค และกลุ่มผู้มีอายุเกิน 60 ปี เข้ารับการฉีดวัคซีน
สรุป สนับสนุนให้คนไทยทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีน เพื่อทำให้ประเทศไทยเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ หยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืน
10 พ.ค. 64 สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย แถลงใจความว่า การฉีดวัคซีนทุกชนิดไม่เฉพาะแต่วัคซีนโควิด-19 ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้ ส่วนใหญ่ไม่รุนแรง สามารถหายเองได้ อาการชาบางส่วนของร่างกายที่พบได้จากผู้รับวัคซีนโควิดในขณะนี้ พบว่าไม่ได้เกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง(โรคอัมพาต) และตรวจไม่พบลิ่มเลือดอุดตันหรือเลือดออกในสมอง อาการดังกล่าวหายเองได้
สรุป ไม่พบความผิดปกติทางสมอง ไม่พบการเสียชีวิต ทุกอาการที่อาจเกิด สามารถหายเองได้ แนะนำให้ฉีดวัคซีน
11 พ.ค. 64 แพทย์ 3 สถาบัน ชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล พร้อมด้วย ศ.นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา คณบดีคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี และศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว ณ โรงแรมสุโกศล เชิญชวนให้ประชาชนหันมาฉีดวัคซีนโควิด เพื่อป้องกัน ลดความรุนแรงของโรค การฉีดวัคซีนจะเป็นการติดอาวุธป้องกันตัวเอง และคนในครอบครัว ทำให้อัตราการป่วย และติดเชื้อค่อยๆ ลดลง
สรุป แพทย์ 3 สถาบัน ชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อป้องกันและลดความรุนแรงของโรค
14 พ.ค. 64 สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย
สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย ระบุว่า ผู้สูงอายุจึงเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงซึ่งจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เป็นอย่างยิ่ง โดยแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ 1. ผู้สูงอายุที่มีภาวะเปราะบาง มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่อาการคงที่ พบว่า สามารถป้องกันการติดโควิด-19 และลดความรุนแรงของการเกิดโรคได้มาก โดยโอกาสการเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงไม่แตกต่างจากกลุ่มประชากรวัยอื่น 2. ผู้สูงอายุที่มีอาการเจ็บป่วยที่อาการยังควบคุมอาการไม่ได้ มีอาการไม่คงที่ หรือได้ยากดภูมิคุ้มกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด 3.ผู้สูงอายุระยะท้ายของชีวิตที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายในระยะเวลาไม่กี่เดือน การพิจารณาการฉีดวัคซีนจะเป็นรายกรณีไป
ข้อมูลอ้างอิง
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
https://www.si.mahidol.ac.th/th/hotnewsdetail.asp?hn_id=2659
สมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย
http://neurothai.org/content.php?id=431
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
http://www.rcpt.org/index.php/home.html
คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
https://www.facebook.com/ChulalongkornHospital/posts/4045187332190776
คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญ สรุปกรณีหญิง 23 ปี เสียชีวิต เบื้องต้นไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนโควิด 19
https://pr.moph.go.th/?url=pr/detail/2/04/157299
3 หมอใหญ่ แนะร่วมฉีดวัคซีนหยุดโควิด
https://tna.mcot.net/social-693919
สมาคมพฤฒาวิทยาและเวชศาสตร์ผู้สูงอายุไทย
https://www.facebook.com/plugins/post.php?href=https%3A%2F%2Fwww.facebook.com%2Fthaigeron.or.th%2Fposts%2F6119641844728268&show_text=true&width=500
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter