กองบัญชาการกองทัพเรือ 8 พ.ค.-ทร.ผุดไอเดียโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” ทำระบบปรับอากาศรวมเรือรบปลอดภัย ไร้โควิด กำลังพลไม่ป่วยหลังออกปฏิบัติงานกลางทะเล ใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็นต้นแบบ ติดตั้งแล้ว 7 ลำ อยู่ระหว่างติดตั้งเพิ่มอีก 2 ลำ
พล.ร.อ.เชษฐา ใจเปี่ยม โฆษกกองทัพเรือ เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ส่งผลให้ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่กระจายไปทุกหน่วยงานของกองทัพเรือ รวมทั้งในเรือรบ ซึ่งมีภารกิจสำคัญในทะเล จึงจัดโครงการ “เรือรบปลอดเชื้อ” โดยทำระบบปรับอากาศรวมของเรือรบให้ปลอดภัยจากเชื้อ COVID-19 โดยใช้ “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็นต้นแบบ หลังจากที่พบว่าเมื่อติดตั้งระบบแล้วออกทะเลไปภารกิจ ไม่มีใครป่วยหรือติดเชื้อโรคทางเดินอากาศ ลดปริมาณสารเคมี ไอเสียจากเครื่องยนต์ และสารระเหยอื่นที่ฟุ้งกระจายอยู่ในเรือ รวมทั่งกลิ่นอาหารและกลิ่นอับจากความชื้นที่เกาะอยู่ตามผนังและแผงความเย็นในระบบปรับอากาศได้ด้วย
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า สำหรับความเป็นมาของโครงการ เกิดจากในช่วงแรกของการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่าเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐ และของฝรั่งเศส ตลอดจนเรือรบอื่น ๆ รวมถึงเรือท่องเที่ยวในต่างประเทศ ใช้ระบบปรับอากาศรวมเช่นเดียวกับในเรือรบ ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสภายในเรือ จึงเกิดแนวคิดที่จะป้องกันเรือรบของกองทัพเรือไทยไม่ให้ประสบปัญหาต่อกำลังพลประจำเรือ ครอบครัว และความพร้อมรบ พล.ร.ท.ประชาชาติ ศิริสวัสดิ์ รองเสนาธิการทหารเรือ สายงานกิจการพลเรือน จึงหารือกับ พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ รองผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และนายสมโภชน์ อาหุนัย จากบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด ซึ่งก่อนหน้านี้เคยนำอุปกรณ์เครื่องฆ่าเชื้อในอากาศไปบริจาค พร้อมติดตั้งให้โรงพยาบาลต่าง ๆ ใน กทม. หลายโรงพยาบาลแล้ว รวมถึงโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า กรมแพทย์ทหารเรือ
พล.ร.อ.เชษฐา กล่าวว่า ทีมงานจึงได้นำอุปกรณ์ไปศึกษาเพื่อติดตั้งในเรือ ซึ่งใช้ระบบปรับอากาศรวมเช่นเดียวกับโรงพยาบาล โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นหลอด UVC ที่นำมาประยุกต์ใช้กับเรือรบ และเป็นเครื่องฟอกอากาศด้วยแสง UV (UV GERMICIDAL AIR PURIFIER) กองทัพเรือได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานศึกษาฯ เป็นคณะทำงานป้องกันการแพร่ระบาดเชื้อโรคทางระบบปรับอากาศ โดยมี พล.ร.ท.สมัย ใจอินทร์ พล.ร.ต.สราวุธ ใจชื้น พล.ร.ต.ไพศาล เฮงจิตตระกูล พล.ร.ต.สาธิต นาคสังข์ น.อ.สมศักดิ์ คงพยัคฆ์ น.อ.พิสุทธิ์ แดงเผือก น.อ.ธีรสาร คงมั่น น.ท.เอกราษฎ์ นาคมี และ น.ท.ประพนธ์ น้อยมณี เป็นคณะทำงาน
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า คณะทำงานได้ทดสอบทดลองติดตั้งบนเรือรบ และได้นำไปตรวจสอบ ทดสอบ และวัดผล ซึ่งได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ และกรมแพทย์ทหารเรือ พบว่าสามารถใช้งานได้เป็นอย่างดี ไม่รบกวนระบบต่าง ๆ ของเรือ จึงรายงานผลการทดสอบนี้ให้ พล.ร.อ.ชาติชาย ศรีวรขาน ผู้บัญชาการทหารเรือ ทราบ และขออนุญาตทดลองติดตั้งใช้งาน โดยติดตั้งใน “เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช” เป็นลำแรก ก่อนจะไปเข้ารับการปรับปรุงเรือที่เกาหลีใต้ เนื่องจากขณะนั้นเป็นในห้วงเกิดการระบาดสูงสุดในเกาหลีใต้ ซึ่งผลการปฏิบัติหลังติดตั้งระบบแล้ว ระยะเวลา 2 เดือน ไม่มีกำลังพลนายใดติดเชื้อ
“เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกที่ 2 ทำให้เรือรบสมรรถนะสูงและเรือรบขนาดใหญ่ที่มีกำลังพลปฏิบัติงานในเรือเป็นจำนวนมาก ขอรับการสนับสนุนการติดตั้งมากขึ้น จึงได้ติดตั้งแล้วเสร็จ จำนวน 7 ลำ ประกอบด้วย เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช เรือหลวงมกุฎราชกุมาร เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน เรือหลวงกระบุรี เรือหลวงบางปะกง และอยู่ระหว่างการติดตั้งอีก 2 ลำ คือ เรือหลวงอ่างทอง และเรือหลวงสิมิลัน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ กองทัพเรือได้จัดการฝึกภาคทะเลของนักเรียนนายเรือ โดยหมู่เรือฝึก คือ เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงบางปะกง และเรือหลวงมกุฎราชกุมาร ที่ติดตั้งเครื่องฆ่าเชื้อดังกล่าวแล้ว พบว่าไม่มีกำลังพลประจำเรือและนักเรียนนายเรือที่เข้าร่วมฝึกป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเลย” พล.ร.อ.เชษฐา กล่าว
โฆษกกองทัพเรือ กล่าวว่า ปัจจุบันหลอด UVC ที่ติดตั้งภายในเรือเพื่อฆ่าเชื้อ แม้ว่าจะมีจำหน่ายโดยทั่วไป แต่ไม่ใช่ว่าจะติดตั้งได้โดยทั่วไป ซึ่งแม้ว่าจะมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงรา เส้นใย ยีสต์ ได้ในระดับพื้นผิว ซึ่งในวงการวิทยาศาสตร์จะนิยมเรียกกันว่า Ultraviolet Germicidal Irradiation โดยแสงจากหลอด UV ฆ่าเชื้อนี้จะทำให้เชื้อโรคและแบคทีเรียโดยรอบหยุดทำงาน ดังนั้น หลอดไฟฆ่าเชื้อนี้ จึงช่วยกำจัดหรือช่วยทำลายไวรัสและแบคทีเรียบนพื้นผิวที่เป็นอันตรายต่อร่างกายผู้ป่วยให้มีจำนวนลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อควรระวังในการใช้งาน เนื่องจากหลอด UVC มีความยาวคลื่นอยู่ที่ประมาณ 200-280 นาโนเมตร ซึ่งเป็นรังสีที่ค่อนข้างเป็นอันตรายต่อร่างกาย หากกระทบผิวหนังตรง ๆ เป็นระยะเวลานาน อาจทำให้ผิวหนังไหม้ หรือทำให้เยื่อบุตาอักเสบได้
“ถ้าได้รับแสงรังสี UVC มากเกินไปเป็นระยะเวลาหนึ่ง อาจจะทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ โดยในส่วนของการติดตั้งบนเรือนั้น ใช้หลอด UVC ทำการติดตั้งกับระบบปรับอากาศรวมของเรือ ซึ่งติดตั้งอยู่ภายในเครื่องปรับอากาศ ภายใต้การควบคุมของผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากประชาชนทั่วไปจะนำไปประยุกต์ใช้ ควรระมัดระวังและศึกษาข้อมูลก่อนการใช้งานให้ถี่ถ้วน” พล.ร.อ.เชษฐา กล่าว.-สำนักข่าวไทย