ชัวร์ก่อนแชร์ : สารก่อมะเร็งในข้าวสาร จริงหรือ ?

6 พฤษภาคม 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที

บนสังคมออนไลน์แชร์ “ข้าวที่ไม่มีมอดเพราะใช้สารเคมีอบ เป็นสารก่อมะเร็งและทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หากไม่พบมอดในข้าวสารควรซาวข้าวมากกว่า 2 ครั้ง” ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญที่สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า “จริงเพียงบางส่วน”

บทสรุป : จริงบางส่วน และ ไม่ควรแชร์ต่อ
• มีการใช้สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนรมข้าวเพื่อกำจัดมอดจริง แต่สารดังกล่าวไม่ใช่สารก่อมะเร็ง และมีการควบคุมปริมาณไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถกำจัดสารดังกล่าวได้ด้วยการซาวข้าวและหุงต้มผ่านความร้อน
• มีโอกาสที่โบรไมด์ไอออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำจริง เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ไอโอดีน แต่สำหรับบุคคลทั่วไปไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวล

สืบหาต้นตอ ข้อมูลที่ถูกแชร์
มีการแชร์ภาพอินโฟกราฟิกคำเตือนเรื่องสารก่อมะเร็งในข้าวสาร ซึ่ง มีใจความสำคัญว่า ข้าวสารที่ไม่มีมอดเพราะใช้สารเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์ไอออน (bromide ion) อบข้าว ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งและอาจทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ หากไม่พบมอดในข้าวสารควรซาวข้าวมากกว่า 2 ครั้ง ชุดข้อความนี้ถูกแชร์บน Facebook มาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการบันทึกภาพดังกล่าวมาเผยแพร่ต่อในแอปพลิเคชัน Line ทำให้มีผู้ส่งเรื่องเข้ามาสอบถามข้อเท็จจริงกับศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์


FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชนิพรรณ  บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ยืนยันว่า มีการใช้สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนรมข้าวเพื่อกำจัดมอดจริง แต่หน่วยงาน IARC ขององค์การอนามัยโลก จัดให้เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์ นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีประกาศควบคุมปริมาณการใช้สารดังกล่าวเพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคด้วย

สาเหตุที่ต้องใช้สารเมทิลโบรไมด์รมข้าวสาร
รศ.ดร.ชนิพรรณ อธิบายว่า หลังจากการเก็บเกี่ยวและสีข้าวแล้ว ข้าวสารปริมาณมากจะถูกเก็บรวมกันในโรง ซึ่งอาจทำให้เกิดมอดหรือแมลงต่าง ๆ จึงมีการใช้สารเมทิลโบรไมด์ซึ่งเป็นของเหลวผสมกับน้ำในสัดส่วนที่มีการควบคุมจากกระทรวงสาธารณสุขไม่ให้เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แล้วฉีดพ่นให้เป็นไอหรือละอองจากที่สูงเพื่อกำจัดจุดตั้งต้นของการเกิดมอดและแมลงต่าง ๆ การใช้สารเคมีบางชนิดไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรงเสมอไป คล้ายกับการใช้ยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ มีวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ภายใต้การกำหนดปริมาณที่เหมาะสม ดังนั้น หากผู้บริโภคไม่พบมอดในข้าวสารก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีสารตกค้างหรือเป็นอันตรายแต่อย่างใด

ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออน ไม่ใช่ “ผู้บริโภค” แต่เป็น “เกษตรกรผู้ใช้สารรมข้าว”
หน่วยงาน IARC ของ องค์การอนามัยโลก จัดให้สารเมทิลโบรไมด์ (Methyl Bromide) อยู่ใน Group 3 ซึ่งหมายถึง ไม่สามารถจัดได้ว่าเป็นสารที่ก่อมะเร็งในมนุษย์ แต่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพหากตกค้างในปริมาณที่สูงเกินค่าที่กำหนด โดยเมทิลโบรไมด์จะส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจมากกว่าระบบทางเดินอาหาร ผู้ที่ต้องระมัดระวังจึงไม่ใช่ผู้รับประทาน แต่เป็นผู้ใช้สารรมข้าว เนื่องจากเมทิลโบรไมด์ไม่มีกลิ่นที่ชัดเจนทำให้ผู้ที่ได้รับสารอาจไม่รู้สึกตัวและรับสารนี้ไปเป็นปริมาณมาก ซึ่งจะส่งผลเสีย 2 รูปแบบคือ เกิดพิษเฉียบพลันเกี่ยวกับระบบหายใจ (มีอาการหายใจติดขัดภายใน 2-3 ชั่วโมง หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียนภายใน 2-3 วัน) และเกิดพิษเรื้อรัง (ได้รับสารอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานจนส่งผลกระทบต่อระบบสมองและประสาท) อย่างไรก็ตาม สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนไม่เกี่ยวข้องกับการก่อมะเร็ง

กำจัดสารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนได้อย่างไร ?
แม้อาจมีความเสี่ยงต่ำสำหรับผู้บริโภค แต่ถ้าหากประสงค์จะกำจัดสารดังกล่าว ก็มีแนวทางที่ทำได้ ในกระบวนการหุงข้าวมีประมาณ 2 ขั้นตอนที่สามารถกำจัดสารสารเมทิลโบรไมด์ได้ ขั้นตอนแรกคือการซาวข้าว มีงานวิจัยยืนยันว่า การซาวข้าว 1 ครั้งสามารถกำจัดสารเมทิลโบรไมด์ที่ตกค้างได้ 50% แนะนำให้ซาวข้าวประมาณ 2 ครั้งโดยไม่นำน้ำซาวข้าวนั้นกลับมาใช้ประกอบอาหารอีก ขั้นตอนที่สอง คือการหุงต้มผ่านความร้อน สารดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นไอระเหยจึงไม่ควรกักเก็บไอระเหยนั้นไว้

กฎหมายไทยกำหนดปริมาณสูงสุดที่จะพบการตกค้างของสารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนในข้าวสาร
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ได้กำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limit; MRL) หรือ ปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่มีได้ในข้าวสารไว้ดังนี้

1. เมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) ณ จุดรมหลังจากระบายแก๊สออก ให้ข้าวสารสัมผัสกับอากาศไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง = 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ณ จุดจําหน่าย = 0.01 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
2. โบรไมด์ไอออน (bromide ion) จากการใช้เมทิลโบรไมด์และรวมถึง จากแหล่งอื่น ๆ แต่ไม่รวม โบรมีนที่ยึดด้วย พันธะโคเวเลนซ์ (covalently bound bromine) = 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

ซึ่งค่าปริมาณดังกล่าว เป็นค่าที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วว่าไม่กระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภค ข้าวสารที่มีปริมาณเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนตกค้างสูงเกินค่านี้จะถือว่าผิดกฏหมาย

โบรไมด์ไอออน กับ ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ จริงหรือ ?
ในประกาศที่แชร์กันระบุว่า โบรไมด์ไอออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เกิดภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำนั้นมีโอกาสเป็นไปได้ แต่ตัวที่จะจับกับไอโอดีนไม่ใช่โบรไมด์ไอออนอย่างเดียว สารที่อยู่ในธรรมชาติบางชนิด เช่น ผักกะหล่ำปลีถ้าไม่ผ่านความร้อนจะมีตัวที่ไปจับไอโอดีนเหมือนกัน ตรงนี้เป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการใช้ไอโอดีนมากกว่า เช่น ผู้ที่เป็นไฮโปไทรอยด์ และไฮเปอร์ไทรอยด์ แต่สำหรับบุคคลทั่วไปไม่ใช่เรื่องที่น่าเป็นกังวลแต่อย่างใด

เรื่องที่น่าเป็นห่วงเกี่ยวกับข้าวสารไม่ใช่เมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออน แต่เป็นเรื่องของโลหะหนัก เพราะโลหะหนักไม่สามารถกำจัดได้ด้วยการซาวข้าว จึงต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่มั่นใจว่าไม่มีการตกค้าง 

บทสรุป : จริงบางส่วน และ ไม่ควรแชร์ต่อ
รศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ ยืนยันว่า มีการใช้สารเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์ไอออนรมข้าวเพื่อกำจัดมอดจริง แต่ใช้ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค สามารถกำจัดสารดังกล่าวได้ด้วยการซาวข้าวและหุงต้มผ่านความร้อน ที่สำคัญคือหน่วยงาน IARC ขององค์การอนามัยโลก จัดให้เมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ไม่ก่อมะเร็งในมนุษย์ จึงไม่ควรแชร์คำเตือนเรื่องสารก่อมะเร็งในข้าวสารต่อ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคม

ข้อมูลอ้างอิง :
https://monographs.iarc.who.int/list-of-classifications
http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P387.PDF
http://www.chemtrack.org/Chem-Detail.asp?ID=06050
https://www.facebook.com/100006098883332/posts/2825798970966705/

🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare


ดูข่าวเพิ่มเติม

หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare

สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter

หมายเหตุ : โฆษณาที่ปรากฏอยู่บนหน้าเว็บไซต์นี้ แสดงผลโดยอัตโนมัติจากบริษัทผู้ให้บริการโฆษณา ไม่ใช่การสนับสนุนหรือส่งเสริมจากศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์แต่อย่างใด

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ค้นบ้านสามารถ

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ” คดีฟอกเงินดิไอคอน

ดีเอสไอเข้าค้นบ้าน “สามารถ เจนชัยจิตรวนิช” คดีฟอกเงินดิไอคอน หลังพบเงิน “บอสดิไอคอน” โอนเข้าบัญชีแม่ของนายสามารถ

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง

คะแนนไม่เป็นทางการ เลือกตั้งนายก อบจ.นครฯ

ลุ้นผลคะแนนเลือกตั้งนายก อบจ.นครศรีธรรมราช นับเสร็จแล้วบางหน่วย ล่าสุด ณ เวลา 19.40 น. “วาริน ชิณวงศ์” เบอร์ 2 จากทีมนครเข้มแข็ง ชนะคู่แข่งขาดลอยในหลายหน่วย คะแนนทิ้งห่างแชมป์เก่า “กนกพร เดชเดโช” เบอร์ 1 จากพรรค ปชป.

“ทนายสายหยุด” จ่อถอนตัวคดีตั้ม หวั่นติดร่างแห

“ทนายสายหยุด” เตรียมถอนตัวเป็นทนายให้ “ตั้ม” เผยในมือมีแต่พยานเท็จ ปิดบังข้อเท็จจริง เสี่ยงเป็นผู้ร่วมกระทำผิด

ข่าวแนะนำ

วิเคราะห์การเมืองสนามใหญ่ หลังศึกเลือกตั้งนายก อบจ.

วิเคราะห์ผลการเลือกตั้งนายก อบจ. 4 สนามใหญ่ โดยเฉพาะอุดรธานี ที่สะท้อนถึงความนิยมในตัวของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบกุญแจมือเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนดัง ส่งนอนห้องขัง

“บิ๊กเต่า” ลั่นเตรียมมอบ “กุญแจมือ” เป็นของขวัญปีใหม่ให้อินฟลูฯ นักร้อง คนดัง ส่งนอนห้องขังวีไอพี เผยปม “ฟิล์ม รัฐภูมิ” คาดมีความชัดเจนภายในสัปดาห์นี้

หมอบุญ

THG แจงบริษัทไม่เกี่ยวข้องคดีต่างๆ ที่เกิดจาก “หมอบุญ”

THG แจงตลาดหลักทรัพย์ฯ ปัจจุบัน “หมอบุญ” ไม่ได้ดำรงตำแหน่งกรรมการและผู้บริหารใน THG คดีฉ้อโกงใดๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทไม่เกี่ยวข้อง