กรุงเทพฯ 5 พ.ค. – FETCO เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนแม้ลดลงแต่ยังอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่อง พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ ปี 2565 คาดจะขยายตัวร้อยละ 4 ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้คาดว่าขยายตัวร้อยละ 32 และปี 2565 คาดจะขยายตัวร้อยละ 17
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนเมษายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.37 ปรับตัวลดลง 14.6% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังแผนการกระจายวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ Covid-19 เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์เศรษฐกิจจีน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ในไทย รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนเมษายน 2564 SET Index ผันผวนอยู่ระหว่าง 1,541.12 –1,596.27 โดยได้รับแรงกดดันจากการระบาดรอบใหม่ของ Covid-19 จากกลุ่มสถานที่ท่องเที่ยวกลางคืนในกรุงเทพ และแพร่กระจายไปยังหลายจังหวัดทั่วประเทศในช่วงวันหยุดยาวสงกรานต์ที่ประชาชนกลับต่างจังหวัด ซึ่งส่งผลให้จำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 รายใหม่ที่เพิ่มสูงเกินกว่า 1,000 รายต่อวัน อีกทั้งได้รับผลกระทบจากตลาดหุ้นอเมริกาที่ปรับลงอย่างหนัก จากการประกาศข้อเสนอเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน (Capital Gains Tax) เพิ่มเกือบเท่าตัว อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับปัจจัยบวกหลังจากรัฐบาลไทยประกาศแผนการจัดหาวัคซีนทางเลือกเพิ่มขึ้น และ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ Covid-19 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท รวมถึงมูลค่าการส่งออกของไทยเดือนมีนาคม 2564 ขยายตัวถึงร้อยละ 8.5 YOY โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน SET index ปิดที่ 1,583.13 ปรับตัวลงลง 0.26% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ความชัดเจนของแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและแผนการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนหลังจาก GDP จีนช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2021 ขยายตัวมากถึง 18.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว การระบาดระลอกใหม่ที่มีการกลายพันธุ์ของไวรัส Covid-19 ในอินเดีย และการประกาศ lockdown อีกครั้งในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เยอรมัน ซี่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจโลก ในส่วนของปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การแพร่ระบาดของ Covid-19 ระลอกใหม่ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ แผนจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเพื่มเติมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ถูกสั่งปิดในพื้นที่ควบคุม รวมถึงผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1 ปี 2564
ด้านมุมมองตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มอยู่ในขาขึ้นใน 12 เดือนข้างหน้า ปัจจัยสนับสนุนหลักคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย การฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียน อัตราเร่งในการฉีดวัคซีน การเปิดประเทศ และการไหลเข้าของเงินลงทุนต่างชาติ
พร้อมมองว่า มาตรการคุมเข้มของ ศบค. น่าจะช่วยให้สถานการณ์โควิดระลอกนี้ดีขึ้นในไม่ช้า และเชื่อว่า รัฐบาลจะออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การเพิ่มจำนวนวัคซีนที่รัฐจัดหาเป็น 100 ล้านโดส ช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้มาก ขณะที่ตลาดหุ้นจะตอบรับอีกมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับความรวดเร็วในการกระจายและฉีดวัคซีน
ด้านเม็ดเงินต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่ได้ไหลกลับเข้าตลาดหุ้นเอเชีย สำหรับไทยเงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลเข้าเมื่อเกิดความชัดเจนกว่านี้ในการเปิดประเทศ ซึ่งจะเริ่มเห็นนักลงทุนต่างประเทศทยอยซื้อหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลกในช่วงนี้เป็นเพียงภาวะชั่วคราว โดยโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยก่อนปี 2022 มีน้อยมาก ขณะที่การปรับลดเม็ดเงินที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการ QE ของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเริ่มต้นในปีหน้า แต่ผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยมองว่ามีไม่มากนัก
อย่างไรก็ดี FETCO ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้คาดจะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และ ปี 2565 คาดจะขยายตัวร้อยละ 4 ส่วนกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้คาดว่าขยายตัวร้อยละ 32 และปี 2565 คาดจะขยายตัวร้อยละ 17 เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย